ในช่วงนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มักจะเห็นสภาพอากาศแบบขมุกขมัว เพราะเจ้าฝุ่น PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาเรียกว่าเกือบจะทุกจังหวัดของประเทศกันในขณะนี้ โดยเฉพาะกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ต้องผจญกับฝุ่นจิ๋วเวลาออกไปทำงาน หรือแม้แต่ที่บ้านเองก็ไม่แคล้วที่จะต้องเจอกับปัญหานี้ หลายบ้านอาจต้องตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าซื้อเครื่องฟอกอากาศติดบ้านไว้ ซึ่งแค่เพียงเครื่องปรับอากาศเพียงอย่างเดียวดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว
สำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์น้อยหรือมีเงินในกระเป๋าค่อนข้างจำกัด ก็อาจจะใช้วิธีไปเลือกหาซื้อต้นไม้มาปลูกบริเวณโดยรอบของตัวบ้านเพื่อช่วยดักจับฝุ่นจิ๋ว เป็นการช่วยกรองฝุ่นไปได้อีกเปราะหนึ่ง โดย งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการศึกษามลพิษอากาศในอาคาร เมื่อปี 2554 ระบุว่า การปลูกต้นไม้บริเวณรอบบ้านหรือตัวอาคาร 1 ต้น สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 9-15 กิโลกรัมต่อปี ดักฝุ่นและมลพิษทางอากาศได้ 1.4 กิโลกรัมต่อปี ช่วยฟอกอากาศลดอาการภูมิแพ้ หอบ หืด ได้ ลดอุณหภูมิรอบบ้านได้ 2-4 องศาเซลเซียส ช่วยให้ร่มเงา ป้องกันรังสี UV และช่วยทำให้สดชื่นผ่อนคลาย ลดความเครียดไปในตัวด้วย รู้อย่างนี้แล้ว น่าจะลองซื้อหามาช่วยลดปัญหาตามกำลังทรัพย์ของคุณกันนะคะ
โดยต้นไม้ที่สามารถช่วยดักจับฝุ่นจิ๋ว และช่วยกรองอากาศมีทั้งหมด 20 ชนิดด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1.สาวน้อยประแป้ง (Dumb Cane)
ไม้ใบสวยงามที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดพิษจำพวกไซลีนและโทลูอีน ที่เกิดจากพาร์ติเคิลบอร์ด ไม้อัด เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ สีทาห้อง
2.ยางอินเดีย (Rubber Plant)
ไม้ปลูกง่าย ทนทาน ชอบแสงแดด แต่ก็เติบโตได้ในสภาพแสงน้อย มีความสามารถในการคายความชื้นได้ดีมากพอๆ กับความสามารถในการดูดสารพิษหรือช่วยฟอกอากาศ
3.ไทรใบสัก (Fiddle Fig)
ไม้เขตร้อน ที่ฟอร์มต้นสวยจนเป็นที่นิยมของคนยุคนี้ มีใบขนาดใหญ่ ต้องการแสงและไม่ต้องการน้ำชุ่ม มีคุณสมบัติในการดูดสารพิษและฟอกอากาศให้สดชื่น จึงเหมาะกับการวางในห้องนั่งเล่น ริมระเบียง หรือห้องทำงานที่แดดส่องถึง
4.เขียวหมื่นปี (Chinese Evergreen)
ไม้ประดับที่มีความสามารถในการดูดสารพิษระดับปานกลาง จากใบที่มีขนาดกว้าง ซึ่งพื้นที่ผิวใบสำหรับดูดกลืนสารพิษได้ โดยเฉพาะสารจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ และมีอัตราการคายความชื้นสูง
5.เบญจมาศ (Chrysanthemum)
ไม้ล้มลุก มีดอกหลากสี ชอบแดดจัด จากการทดลองของ ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตัน นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซา สหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการวิจัยพืชเพื่อหาวิธีปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในระบบปิดของยานอวกาศ พบว่า ต้นเบญจมาศช่วยดูดสารมลพิษได้มากกว่า 90% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว
6.พลูด่าง (Golden Pothos)
ไม้เลื้อยเขตร้อน ลำต้นอ่อน เติบโตง่าย เป็นไม้อีกหนึ่งชนิดที่ ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตัน พบว่าสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ได้ถึง 75% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงเช่นกัน
7.วาสนาราชินี (Queen of Dracaenas)
ไม้ยืนต้น ลำต้นกลมตรง ลักษณะใบเรียวยาว วาสนาเป็นไม้ประดับอีกชนิดหนึ่งที่ดูดสารพิษภายในอาคารจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์และไตรคลอโรเอทธีลีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8.ตีนตุ๊กแกฝรั่ง (English Ivy)
ไม้เลื้อยที่นิยมปลูกตามกำแพง เป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด แต่สามารถปรับตัวอยู่ในแสงรำไรได้ มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจำพวกสารเบนซิน
9.ลิ้นมังกร (Snake Plant)
มีคุณสมบัติในการดูดสารพิษไม่มาก แต่จะเด่นเรื่องการคายออกซิเจนออกมาตอนกลางคืนและดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จึงเหมาะที่จะปลูกไว้ในห้องนอน
10.เงินไหลมา (Arrowhead Vine)
ไม้เลื้อยเถาว์ยาว เป็นไม้ในร่มที่ต้องการแสงแดดส่องถึง ต้องการน้ำมากและความชื้นสูง เป็นไม้ดูดสารพิษภายได้พอสมควร แต่อัตราการคายความชื้นสูงจึงช่วยสร้างความสดชื่นให้แก่อากาศได้มากกว่า
11.เดหลี (Peace Lily)
ไม้ประดับที่มีดอกสีขาวคล้ายดอกหน้าวัว คุณสมบัติคายความชื้นสูงเช่นเดียวกับความสามารถในการดูดพิษภายในอาคาร เช่น กาว, อาซีโตน(ในเครื่องสำอาง), น้ำยาทาเล็บ, น้ำยาลบคำผิด, สารไตรคลอโรเอทีลีน ซึ่งมีอยู่ในเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร เตาแก๊ส น้ำยาเคลือบเงาไม้ รวมทั้งเบนซิน และฟอร์มาลดีไฮด์ ถือเป็นไม้กระถางที่ได้คะแนนสูงสุดในการฟอกอากาศเลยทีเดียว
12.สับปะรดสี (Urn Plant)
ไม้ประดับสีสวย ใบเป็นกลีบแข็งๆ แผ่ออกมา โตช้า แต่ดูแลง่าย ทั้งยังทนแล้งได้ดี คุณสมบัติในการดูดสารพิษไม่มาก แต่คายออกซิเจนออกมาตอนกลางคืนและดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จึงเหมาะที่จะปลูกไว้ในห้องนอนเช่นกัน
13.กล้วยไม้ (Orchid)
ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ตระกูลใดก็ล้วนมาพร้อมคุณสมบัติในการคายออกซิเจนและดูดคาร์บอนไดออกไซด์เวลากลางคืน โดยเฉพาะกล้วยไม้หวายนั้น สามารถดูดไอระเหยจากสารเคมีจำพวกแอลกอฮอล์ อะซีโทน ฟอร์มาลดีไฮด์ และคลอโรฟอร์มจากอากาศได้ดีเป็นพิเศษด้วย
14.ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera)
นอกจากจะเป็นสมุนไพร ใช้ทั้งทำยา เครื่องดื่ม และส่วนประกอบในการทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแล้ว ยังมีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ หรืออีกชื่อที่เราน่าจะคุ้นเคยกว่าอย่างฟอร์มาลีน ซึ่งพบในพวกสารเคลือบต่างๆ ทั้ง ยาทาเล็บ ยาเคลือบเฟอร์นิเจร์ สีทาบ้าน ฯลฯ
15.ปาล์มสิบสองปันนา (Dwarf Date Palm)
ปาล์มลำต้นเดี่ยว ปลูกได้ทั้งกลางแจ้งและที่ๆ มีแสงน้อย สามารถดูดสารพิษในอากาศภายในอาคารได้ดี โดยเฉพาะสารไซรีน ซึ่งพบมากในพวกเครื่องพิมพ์ การผลิตเครื่องหนัง ยางสังเคราะห์ เคลือบเงา พ่นสี และส่วนน้อยจากพวกไอเสียรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในบ้าน
16.เฟิน (Fern)
ไม่ว่าจะเป็นเฟินบอสตันที่ช่วยดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เฟินขนาดใหญ่อย่าง เฟินดาบออสเตรเลีย กับความสามารถในการดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน และโทลูอีน ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่น่าปลูกมากทีเดียว
17.ไทรย้อยใบแหลม (Weeping Fig)
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่ม ใบเขียวสด ปลูกง่าย และช่วยดูดสารพิษในอากาศได้ดี โดยเฉพาะสารจำพวกฟอร์มาลดิไฮด์ รวมทั้งมีอัตราการคายความชื้นที่ดีด้วย
18.เสน่ห์จันทร์แดง (King of Hrarts)
ไม้มงคล ก้านใบยาว รูปหัวใจ เป็นไม้ที่ต้องการดูแลพอสมควรเพราะไม่ค่อยทนนัก แต่ก็มีความสามารถสูงในการดูดสารพิษในอากาศโดยเฉพาะสารพิษจำพวกแอมโมเนีย
19.เศรษฐีไซ่ง่อน (Lily Turf)
ไม้ล้มลุก ใบเรียวยาว กลางใบเป็นร่องเล็กน้อย มีความสามารถในการดูดสารพิษจำพวกแอมโมเนียได้ดี
20.หมากเหลือง (Yellow Palm)
ปาล์มสำหรับประดับตกแต่งสวนและภายในบ้าน ดูแลง่าย อายุยืน หนึ่งในไม้มงคล และมีความทนต่อสภาพแวดล้อมภายในอาคาร คายความชื้นในห้องได้มาก ในขณะที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษปริมาณมากเมื่อเทียบกับบรรดาไม้ประดับดูดสารพิษด้วยกัน จึงจัดเป็นไม้ดูดสารพิษจากอากาศได้มากที่สุดชนิดหนึ่งเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://pagenews.net/?p=2919