นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลาง มีแนวโน้มที่รุนแรง และแผ่วงกว้างกระทบพื้นที่เกือบทุกจังหวัด ซึ่งจังหวัดชัยนาท และจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) ได้ทำการแปลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat 8 (ข้อมูล ณ 19 มกราคม 2563) พบว่า จังหวัดชัยนาท พื้นที่ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท ตำบลกุดจอก อำเภอหนองมะโมงและตำบลห้วยกรดพัฒนา อำเภอสรรคบุรี ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอหนองหญ้าไซ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง
จากการลงพื้นที่ของ สศท.7 เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เบื้องต้นพบว่า พืช ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบทำให้ผลผลิตลดลง จึงมีการเตรียมข้อมูลและวางแผนด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหา ให้ลดการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำปริมาณมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อาทิ ถั่วลิสง ถั่วเขียว ข้าวโพดหวาน ซึ่งเป็นพืชที่ตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง โดยสินค้าทางเลือกแต่ละชนิดมีต้นทุนและผลตอบแทน ดังนี้
ถั่วลิสง ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 5,430 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 75 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 356 กก./ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 2,146 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่ขายได้ ณ ไร่นา 21 บาท/กก.
ถั่วเขียว ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 2,283 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 75 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 123 กก./ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 3,175 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่ขายได้ ณ ไร่นา 44 บาท/กก.
ข้าวโพดหวาน ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 6,776 บาท/ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 60-70 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,819 กก./ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 4,138 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่ขายได้ ณ ไร่นา 6 บาท/กก.
ด้าน นายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเสริมว่า สศท.7 ในฐานะหน่วยงานผู้แทนคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัได้เสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร โดยให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาในพื้นที่ ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงภัยแล้ง และยังได้มีการสำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและการเกษตร พร้อมทั้งรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชน ใช้น้ำอย่างประหยัด เก็บกักน้ำ และซ่อมแซมแหล่งน้ำ เพื่อให้สามารถเก็บน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูการเพาะปลูก
นอกจากนี้ เกษตรกรและประชาชนยังสามารถรับทราบข้อมูลสถานการณ์ พื้นที่แห้งแล้ง ได้ที่เว็บไซต์ http://drought.gistda.or.th เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำการเพาะปลูก หากแปลงเกษตรอยู่ในพื้นที่ภัยแล้งปีนี้ ควรจะเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชทนแล้งแทนได้ ทั้งนี้ ท่านที่สนใจรายละเอียดข้อมูลการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร.05 640 5007-8 หรืออีเมล [email protected]