เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง “สระบุรีพัฒนาเมือง” ได้กรอบแผนพัฒนาเมืองเก่าแก่งคอยแล้ว หลังดึง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระดมความเห็นประชาชนครบทั้ง 8 กลุ่ม โดยเร่งดึงระบบ IoT เข้ามาปรับใช้และขอเป็นพื้นที่นำร่องไอทีระบบ 5G ในโซนพื้นที่ให้เป็นเมืองแก่งคอยสมาร์ทซิตี้เต็มรูปแบบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การฟื้นฟูตลาดเก่าแก่งคอยเพื่อการก้าวสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” เปิดเผยถึงโครงการวิจัยออกแบบแผนการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าและตลาดแก่งคอยให้เป็นพื้นที่ “เมืองแก่งคอยสมาร์ทซิตี้” ว่า ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ,สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่ทางสังคมบริเวณตลาดเก่าแก่งคอย” ภายใต้โครงการวิจัย “การฟื้นฟูตลาดเก่าแก่งคอยเพื่อการก้าวสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” ไปเมื่อวันที่ 21 และ 23 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่หลากหลายกลุ่มเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงแผนการพัฒนาเมืองเก่าแก่งคอยในครั้งนี้อย่างมาก มีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ทุกคนพบเห็นจากการใช้ชีวิตประจำวันโดยโครงการที่เสนอมี 8 เรื่องที่น่าสนใจ
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลายแง่มุม จนได้ข้อเสนอในประเด็นต่างๆจากผู้เข้าร่วมทั้ง 8 กลุ่ม ทั้งในแง่มุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสะดวกสบาย การส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและด้านอื่นๆในพื้นที่
“หลายมิติเกิดจากการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกคนในพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากแนวคิดของผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น หรือจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกทั้งยังพบว่าเป็นแนวคิดสร้างสรรค์ ทันสมัย อาทิ พัฒนาให้เป็นตลาดติดแอร์ด้วยการใช้พลังงานโซลาเซลล์ การเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ของท้องถิ่น การจอดรถรูปแบบทันสมัย หรือการให้บริการรถไร้คนขับโดยเฉพาะผู้สูงอายุให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้พัฒนาวัดต่างๆในพื้นที่และตลาดแก่งคอยเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้หลากหลายรูปแบบเข้ามาในพื้นที่ โดยมีมัคคุเทศก์ที่เป็นเยาวชนในพื้นที่คอยให้บริการ ใช้สื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนใช้คิวอาร์โค้ดในการเล่าเรื่องราวและความสำคัญของสถานที่ต่างๆ
โดยหลังจากได้กรอบแผนการพัฒนาชัดเจนแล้วจะนำไปร่วมหารือกับประชาชนกลุ่มใหญ่ในตลาดแก่งคอยอย่างเป็นทางการอีก 1-2 ครั้ง ว่าคนเหล่านั้นมีความคิดเห็น มีข้อเสนออย่างไรบ้าง จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลเสนอให้ สจล.นำไปออกแบบผังกายภาพพื้นที่ให้สอดคล้องและดีไซน์ให้เหมาะสมภายใต้คอนเซ็ปต์สะอาด สะดวก สบาย และปลอดภัยให้รองรับคนทุกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาในพื้นที่แก่งคอย
“คาดหวังว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาโดยใช้ศักยภาพจากหลายด้านที่มีอยู่ทั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่มีอยู่ให้เป็นจุดขาย จุดดึงดูดความสนใจ นอกจากนั้นยังเปิดรับหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนภายนอกที่สนใจเข้ามาร่วมสานต่อแนวทางการพัฒนาตลาดแก่งคอยได้อีกด้วย”
นายนภดลกล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นยังจะเร่งเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแก่งคอยให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วได้ทันที
โดยต้องการให้ทุกคนในท้องถิ่น องค์กรต่างๆในท้องถิ่นร่วมมือกัน จัดงบประมาณ จัดกำลังคนเข้ามาขับเคลื่อน ให้เกิดการพัฒนาตามแผนที่กำหนดไว้ คาดหวังว่าผลการรับฟังความเห็นจากการศึกษาในครั้งนี้จะได้รูปแบบที่เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะได้พี่ๆน้องๆชาวสระบุรีที่ไปทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จแล้วให้กลับมาช่วยการพัฒนาในครั้งนี้ต่อไปด้วย
สำหรับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะนั้นยังจะนำเอาไอทีและ loT รูปแบบต่างๆเข้ามาปรับใช้ในพื้นที่ 1.2 ตารางกิโลเมตรให้เป็นเมืองอัจฉริยะโดยเร็วต่อไป ทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาพ ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบสิ่งแวดล้อมต่างๆทั้งเรื่องฝุ่น น้ำเสีย และขยะ เป็นต้น อีกทั้งยังเดินหน้าขอให้แก่งคอยเป็นพื้นที่นำร่องของการใช้ไอทีระบบ 5G อีกด้วย พร้อมเร่งพัฒนาตลาดแก่งคอยให้ทันสมัยสะดวกสบายด้วยระบบไอทีสนับสนุนอย่างเต็มที่