วินาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น” ที่หลายคนกำลังวิตกกังวล จนส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไล่เลียงความเป็นมาของเจ้าเชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1960 ทำให้เกิดไข้หวัดทั่วไป แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก จนล่าสุดพบที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ต่างจากที่เคยเจอมาก่อน มีอาการตั้งแต่เล็กน้อย ปานกลาง ถึงรุนแรง และมีการแพร่กระจายเชื้อได้
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีรายละเอียดเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ดังนี้
โคโรนาคืออะไร?
โคโรนาคือเชื้อไวรัสที่มีรูปร่างคล้ายมงกุฎ พบครั้งแรกกลางทศวรรษที่ 1960 โดยมีเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ 4 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ด้วยกัน แต่ตัวที่ระบาดมากที่สุดคือ SARS-CoV พบครั้งแรกที่ประเทศจีน ปี ค.ศ. 2002-2003 ซึ่งได้ระบาดไปทั่วโลกและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ต่อมาพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ MERS-CoV เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศซาอุดิอาระเบีย ในแถบตะวันออกกลาง
จนกระทั่งล่าสุดพบ “เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ที่เมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ตอนกลางของประเทศจีน โดยบริเวณที่พบผู้ป่วยมากที่สุดและคาดว่าน่าจะเป็นรังของโรค คือ ตลาดอาหารทะเลและสัตว์หายากในเมือง ซึ่งได้แพร่กระจายไปในหลายเมืองในประเทศจีน และหลายประเทศ เช่น ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
โดยเฉพาะในประเทศไทยเอง ผู้ป่วยรายแรกที่พบนั้นเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนอายุ 61 ปี จากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะและเจ็บคอ สามวันก่อนเดินทางมาที่ประเทศไทย ต่อมาได้เดินทางมาพร้อมครอบครัวเพื่อท่องเที่ยว เมื่อเดินผ่านเครื่องตรวจจับความร้อนที่สนามบิน (Thermo scan) จึงพบว่ามีไข้ และถูกส่งตัวไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลทันที อีกสองวันต่อมา ทางโรงพยาบาลสามารถแยกเชื้อโดยวิธีการทางโมเลกุลได้ว่าเป็นเชื้อ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” จึงรายงานไปที่องค์การอนามัยโลก และประเทศไทยได้ประกาศว่าเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากประเทศจีน ที่มีผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
วิธีสังเกตอาการ
หากได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการออกมาภายใน 1 วัน ถึง 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับเชื้อ โดยอาการเริ่มแรกของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการมีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบเหนื่อย ถ่ายเหลวท้องเสีย หากผู้ป่วยมีร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะทำให้มีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤตและเสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน
เบื้องต้นทุกคนสามารถป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ดังนี้
- เลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ เจ็บคอ
- เลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่นที่เป็นรังโรค และเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีนที่มีการระบาด
- ระวังการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด และอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่
- ควรล้างมือให้สม่ำเสมอด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างน้อย 20 วินาที
- งดจับตา จมูก ปากขณะที่ไม่ได้ล้างมือ
- เลี่ยงการใกล้ชิด สัมผัสสัตว์ต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการป้องกัน
- ทานอาหารสุก สะอาด ใช้ช้อนกลาง ไม่ทานอาหารที่ทำจากสัตว์หายาก
- สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยตรง ควรใส่หน้ากากอนามัย หรือใส่แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันเชื้อในละอองฝอยจากเสมหะหรือสารคัดหลั่งเข้าตา
แน่นอนว่าวิกฤตไวรัสโคโรนาไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตแล้ว ในแง่ของเศรษฐกิจต่างก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่เช่นเดียว โดยเฉพาะที่ประเทศไทยเมื่อเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ไหลเข้าประเทศอันดับต้นๆ มาจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศจีน เมื่อเกิดวิกฤตดังกล่าวก็ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในภาคของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ต้องรับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ทางหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประกันภัย เหล่าสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนต่างก็ออกมาตรการช่วยเหลือซึ่ง ชี้ช่องรวย ได้นำมาสรุป ดังนี้ สธ. เพิ่มการคัดกรองคนไทยที่ทำงานสัมผัส ใกล้ชิดกับคนจีน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการคัดกรองคนไทยที่มีอาชีพสัมผัสใกล้ชิดกับคนจีน อาทิ ไกด์ พนักงานโรงแรม คนขับรถแท็กซี่ หากมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้โทรปรึกษาสายด่วน 1422 เพื่อเข้าระบบป้องกันควบคุมโรค
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อให้การเฝ้าระวังควบคุมป้องกัน มีความครอบคลุม กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มการคัดกรองคนไทยที่มีอาชีพทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับคนจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย อาทิ ไกด์ พนักงานโรงแรม คนขับรถแท็กซี่ เจ้าหน้าที่สนามบิน ทำให้ช่วงนี้จำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยวานนี้ (29 มกราคม 2563) มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์รายใหม่ 44 ราย จนถึงวันนี้ มีผู้ป่วยสะสม 202 ราย มีทั้งที่คัดกรองได้ที่ด่าน ขอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตนเองและได้รับแจ้งจากที่พัก โรงแรม มัคคุเทศก์ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก
ทั้งนี้การที่จะประกาศว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เป็นผู้ป่วยยืนยันจะประกอบด้วย 1.มีประวัติการเดินทางจากประเทศระบาด (จีน)
2.มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ จาม น้ำมูก
3.ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจาก 2 แห่งยืนยันตรงกัน
4. ผ่านการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาห้องปฏิบัติการรับรองเพิ่มจากเดิม 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชวิถี และห้องปฏิบัติการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่มเติมจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้ขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรอง 4 แห่ง นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้พัฒนาเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ รองรับการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อปอดอักเสบจากโคโรนาไวรัส 2019 ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อถือได้ ไม่จำเป็นต้องส่งมายังส่วนกลางทั้งหมด
ทางด้านแวดวงอุตสาหกรรมประกันภัย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุด ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) ไปแล้วจำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
1.สนับสนุนการจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ เพื่อกระตุ้นการใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันภัยหลายรายกำหนดให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมหากผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากการประกันภัยได้อย่างทันท่วงที ทันเหตุการณ์ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่ระบบประกันภัยจะสามารถเข้าไปรองรับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานี้ด้วย
2.สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย จากอัตราที่ลดลงของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงประสานงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอให้มีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองชาวต่างชาติ ซึ่งเกิดการเจ็บป่วยจาก โรคไวรัสโคโรนาขณะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยจนทำให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือเสียชีวิต เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีสภาวะที่ดียิ่งขึ้น
3.ส่งเสริมความเข็มแข็งของธุรกิจประกันภัย และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย โดยเห็นชอบร่วมกันให้ภาคธุรกิจประกันภัยดำเนินการจัดทำ stress test เพื่อทดสอบปัจจัยมหภาค การเคลมจากการเสียชีวิต และการเจ็บป่วย ของลูกค้าบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย
4.สื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ให้มั่นใจว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ธุรกิจประกันภัยมีความสามารถในการรับผิดชอบชดใช้สินไหมทดแทนได้ตามสัญญาประกันภัยได้อย่างแน่นอน
ด้าน นางนุสรา(อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ยังได้กล่าวยืนยันว่า ผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตและยังมีผลบังคับอยู่ ณ ปัจจุบัน จะยังคงได้รับความคุ้มครองในทุกกรณีครอบคลุมถึงโรคดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามจำนวนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิตและ/หรือสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ
สำหรับประชาชนที่ต้องการจะซื้อประกันชีวิต และซื้อความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัทประกันชีวิต หรือที่สมาคมประกันชีวิตไทย
โทร.0 2679 8080
ในขณะที่ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต ในฐานะกรรมการผู้จัดการ คุณนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ยังได้ยืนยันอีกว่าลูกค้าทุกคนจะยังคงได้รับความคุ้มครองครอบคลุมถึงโรคดังกล่าว ตามจำนวนผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิตและ/หรือสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพที่ถือครองอยู่ ทั้งนี้OCEAN LIFE ไทยสมุทร พร้อมดูแลลูกค้าทุกท่านด้วยหัวใจ และขอส่งความห่วงใยมายังลูกค้าทุกท่าน ขอให้ท่านดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือต้องการซื้อประกันชีวิต และซื้อความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสาขา OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต 171 สาขาทั่วประเทศ หรือ โทร. 0 2207 8888
DITP เกาะติดสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมหามาตรการรองรับ ดันตลาด e-Commerce เพิ่มเติม
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ในส่วนของกรมฯ ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในประเทศจีนทั้ง 7 สำนักงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศจีนที่ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม โดยได้ให้สำนักงานฯ ประสานกับผู้จัดงานและรายงานให้ทราบเพื่อเป็นข้อมูลให้กรมและผู้ส่งออกจะได้วางแผนและเตรียมการรองรับต่อไป
ในส่วนของงานแสดงสินค้านานาชาติต่างๆ ของกรมที่จัดในประเทศไทยนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมมิให้ส่งผลกระทบต่องานและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นมิให้ส่งผลต่อผู้เยี่ยมชมงาน กรมได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดตั้งจุดคัดกรองทั้งผู้เข้าร่วมงานและผู้เข้าเยี่ยมชมงานตามมาตรการสาธารณสุข พร้อมทั้งมีหน่วยแพทย์และพยาบาลประจำตลอดระยะเวลาการจัดงาน
สำหรับงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 65 (Bangkok Gems and Jewelry Fair) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์ 2563 หากมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากประเทศจีนไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมจะให้สิทธิ์ในการเข้าร่วมงานครั้งต่อไปที่จะจัดในเดือนกันยายนแทน
ด้านการผลักดันขยายการค้าในตลาดจีนปีนี้ กรมจะเน้นผลักดันการค้า e-Commerce ร่วมกับ Platform ชั้นนำของจีน คู่ขนานกับการส่งเสริมการขยายการค้าในตลาดเมืองหลักและเจาะตลาดเชิงรุกในเมืองรอง ทั้งนี้ ในปี 2563 กรมได้เปิดหน้าร้านออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “TOPTHAI” บนแพลตฟอร์ม Tmall Global เพื่อจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหาร ของใช้และของประดับตกแต่งบ้านและเสื้อผ้า นอกจากนี้จะได้เร่งผลักดันไปสู่ตลาดอื่นๆ มากขึ้น
อนึ่ง จากปริมาณความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัยต่างๆ โดยเฉพาะจากจีน กรมได้ประสานงานส่งรายชื่อผู้ส่งออกถุงมือยาง อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ให้แก่ผู้นำเข้าจีนซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอย่างเร่งด่วน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือแพทย์ เทอร์โมมิเตอร์ ถุงสวมรองเท้าแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีน ในช่วงปี 2562 พบว่ามีมูลค่าการส่งออก 26,555.37 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปตลาดจีนได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยังคงส่อเค้าความรุนแรงต่อเนื่อง นำมาซึ่งมาตรการสูงสุดของทางการจีนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคาบเกี่ยวกับช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ชาวจีนมีการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ต่อเศรษฐกิจจีนเบื้องต้นในกรอบระยะเวลา 1 เดือน อาจสูงถึง 3 แสนล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP จีนทั้งปี ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.5-5.9 โดยมีผลกระทบหลักๆ ผ่านทางภาคค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการท่องเที่ยว
กสิกรไทยส่งมาตรการด่วน! ช่วยเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤตไวรัสโคโรนา
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระให้กับลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และคู่ค้าของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ โดยมีมาตรการช่วยเหลือ คือ การพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 12 เดือน และสามารถขอวงเงินเพิ่มเพื่อฟื้นฟูกิจการ โดยฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันกับ บสย. 2 ปี
ในขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ถ้าลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ที่สาขาของธนาคาร หรือ K-BIZ Contact Center 02-8888822 ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2563
ไทยพาณิชย์ ออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศ รับมือผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019
นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการเร่งด่วนให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ในทันที โดยมาตรการเบื้องต้นธนาคารฯ มีมาตรการพักชำระเงินต้น (Grace Period) นานสูงสุด 6 เดือน และจะติดตามประเมินผลกระทบในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อธนาคารฯ พร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยมาตรการเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรมของธนาคารฯ ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ที่ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ที่ดูแลท่าน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าธุรกิจ 0 2722 2222ลูกค้าสามารถติดต่อขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
กรุงไทยออกมาตรการช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยปีละกว่า 10 ล้านคน มาเที่ยวน้อยลง ประกอบกับจีนเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้กระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าไปยังจีน ซึ่ง นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการ ตระหนักในปัญหาดังกล่าวและได้มอบหมายให้ฝ่ายจัดการเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจมีความพร้อมที่จะเผชิญและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าไปยังจีน ธนาคารพักชำระหนี้เงินต้นตามระดับผลกระทบ ทั้งนี้ ไม่เกิน 12 เดือน และขยายเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับธุรกิจ สำหรับลูกค้ารายที่ใช้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเดิม สามารถขยายระยะเวลาค้ำประกันออกไปได้อีก 5 ปี โดยลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และเป็นไปตามเกณฑ์ของ บสย.นอกจากนี้ ธนาคารยังจะติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีความประสงค์ใช้สินเชื่อในการดำเนินธุรกิจ สามารถขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี กู้ได้สูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ยกเว้นค่าธรรมเนียม บสย.ค้ำประกัน 4 ปีแรก และสินเชื่อ SME อีก 10 ประเภท ให้เลือกใช้ตามความต้องการของธุรกิจ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปีเช่นเดียวกัน ภายใต้แคมเปญ “กรุงไทย SME เคียงข้างธุรกิจคุณ” ธนาคารกรุงไทยพร้อมอยู่เคียงข้างธุรกิจของลูกค้าเพื่อให้สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และสนับสนุนลูกค้าให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ผู้ประกอบการที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ Krungthai Call Center 02-111-1111 ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา สำนักงานธุรกิจทั่วประเทศ หรือเว็บไซต์ www.ktb.co.th
ธอส.ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ปรับลดดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ 6 เดือน
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. เตรียมกรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท จัดทำ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า” ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 0.01% ต่อปี เพื่อลดภาระหนี้ที่ผ่อนชำระกับ ธอส. ทุกวัตถุประสงค์การกู้ สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่กู้และจดทะเบียนจำนองหลักประกันกับธนาคารก่อนวันเริ่มมาตรการนี้และได้รับผลกระทบด้านรายได้ อาทิ ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรมผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยวและยังได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมมาตรการและทำนิติกรรมระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 31 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อยื่นคำร้องเพื่อเข้าร่วมมาตรการได้ที่สาขาของธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกแห่งและทำนิติกรรมระหว่างวันที่30 มกราคม – 31 มีนาคม 2563 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์