ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทั้งข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง กุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,764-8,466 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.52-9.61
เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตข้าวนาปรังรอบแรกและรอบที่สอง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรังทั้งปี อยู่ที่ 4.814 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงมากถึงร้อยละ 32.86 เมื่อเทียบกับปีก่อน ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 13,790-13,939 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.09-1.18
เนื่องจากผลผลิตข้าวหอมมะลิส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2562 ทำให้ไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด ประกอบกับภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความกังวลในช่วงครึ่งปีหลัง จึงมีการเก็บสต็อกเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 14,269-14,705 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.87-3.96 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดก่อนหน้านี้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและส่งออก อีกทั้ง ภาวะภัยแล้งทำให้ข้าวเปลือกเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง
ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 39.36-39.45 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.37-1.57 เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นความต้องการใช้ยางพารา เพื่อยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายใช้ทำถนนและแปรรูปเป็นสินค้า อาทิ หมอน ถุงมือ และรองเท้า รวมทั้งมีการส่งมอบหมอนยางพาราให้กับประเทศตุรกี ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.80-7.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.76 – 7.36
เนื่องจากความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 และสุกร ราคาอยู่ที่ 69.00 – 75.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.69 – 11.62 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้สุกรเติบโตช้า ปริมาณสุกรในตลาดจึงลดลง ประกอบกับการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวจากความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลนสุกรจากปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF)
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.70-7.78 บาท/กก. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.50 เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้คุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์ได้วางแผนสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และนำเข้าวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อรองรับช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
จึงทำให้ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 14.32-14.40 เซนต์/ปอนด์ (9.78-9.83 บาท/กก.) ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.00-1.50 เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและอิหร่านเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ทำให้บราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่
มีแนวโน้มปรับลดสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับลดลง มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.90-1.95 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.51 – 3.06
เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบระยะสั้นจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา และกุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 140.00 – 147.00 บาท/กก. ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.65 – 5.40
เนื่องจากผลผลิตกุ้งทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้กุ้งไทยสูญเสียโอกาสด้านการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลง