กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy: NEA) จัดโครงการสัมมนา สินค้าดอย ออนไลน์สู่ตลาดโลก เพื่อปลูกจิตสำนึกการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าท้องถิ่นดอยช้าง ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการภูมิภาคให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกของไทยต่อไปในอนาคต
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าถึงผู้ประกอบการภูมิภาค คือ หัวใจของอนาคตการส่งออกไทย โดยการดึงเอาวัฒนธรรม เรื่องราว ความเป็นอยู่ของสินค้าภูมิภาค จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ตอบโจทย์การพัฒนาสินค้าภูมิภาคให้ก้าวสู่ตลาดโลกด้วยศักยภาพการแข่งขันที่สูง จากเรื่องราวของสินค้าที่สร้างมูลค่า ดังเช่นพื้นที่หมู่บ้านดอยช้าง จังหวัดเชียงราย ที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สินค้าศักยภาพ ได้แก่ สินค้ากาแฟ และเมล็ดถั่วแมคคาเดเมีย โดยในหมู่บ้านดอยช้างมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 1,000 ครัวเรือน คิดเป็นผู้ประกอบการ/ประชาชน ประมาณ 4,000 ราย
ปัจจุบันดอยช้างมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนคิดได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ พื้นที่ดอยช้าง จังหวัดเชียงรายนั้นเป็นพื้นที่ ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำมาสร้างเรื่องราวบอกเล่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่จะก้าวไปสู่ตลาดโลก ซึ่งหากผู้ประกอบการและประชาชนสามารถพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่นได้ 4-5 เท่า จะส่งผลให้เกิดรายได้ให้กับพื้นที่ดอยช้างเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 4,000- 5,000 ล้านบาท นอกจากกรมจะพัฒนาพื้นที่ดอยช้างนี้แล้ว ในอนาคตกรมมีความประสงค์จะพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการไปยังภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือนเมษายน 2563 นี้ จะเดินทางไปจัดโครงการ Smart Farmer ในจังหวัดร้อยเอ็ด
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวเสริมว่า การปลูกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ผ่านการบอกเล่าเรื่องราว ที่ดึงวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น อดีตสู่ปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างจุดเด่นและข้อได้เปรียบในการผลักดันสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก ซึ่งเรื่องราวจากพื้นที่ดอยช้างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ โดยสินค้าที่มีศักยภาพอย่างเช่น สินค้ากาแฟ ชา ที่ปัจจุบันเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับโลก สามารถพัฒนาให้นำมาซึ่งการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นของผู้ประกอบการและประชาชนให้มีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งในการทำการค้ายุคใหม่นี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อวิเคราะห์สถิติข้อมูลสินค้า (Data Analytics) และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ่านการบอกเล่าเรื่องราว (Story Telling) ให้สามารถขายสู่ตลาดโลกได้อย่างประสบความสำเร็จ
สถาบันฯ จึงได้มุ่งพัฒนาหลักสูตรเฉพาะกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก (Customization) และสิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้ในวันนี้ แบ่งเป็น 5 เรื่อง ได้แก่
1. การสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาสินค้า
2. การสร้างเรื่องราวสินค้าเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก
3. การขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีเบย์
4. การวิเคราะห์ข้อมูลของสินค้า (Data Analytics)
5. การใช้เครื่องมือ Design Thinking มาปรับใช้กับสินค้า
สนใจเข้าร่วมโครงการของสถาบันฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy: NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์: 02-507-8140 Facebook Fan Page: สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ Website: www.nea.ditp.go.th