หลายครั้งที่คุณรู้สึกครุ่นคิด วิตกกังวลในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง หรือไม่มีและไม่รู้หนทางใดที่จะมาช่วยให้คุณวางเป้าหมายชีวิตและเดินตามทิศทางของเป้าหมายนั้น ชี้ช่องรวย มี 12 แนวทางการปฏิบัติตนที่จะทำให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต จนนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน ดังนี้
1. ใช้ชีวิตเรียบง่าย
บางครั้งในชีวิตของคนเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากมายนัก เพียงแต่เราใช้ความคิดที่หมกมุ่นจนเกินไป ลองหันมามองตัวคุณพร้อมตั้งสติ จะพบว่าการที่เราใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ เป็นสิ่งที่คนเราต้องการและไขว่คว้ามานานแล้ว ดังนั้น อย่าพยายามทำชีวิตของคุณให้สับสนวุ่นวาย และยุ่งยากเกินจะเข้าใจโดยไม่จำเป็น
2. ดำเนินชีวิตตามแนว “เศรษฐกิจพอเพียง”
ให้ดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นอีกแนวทางการใช้ชีวิตที่เน้นเรื่องความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่น้อยและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความมีเหตุผล คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียง ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน คือ เตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ควรน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อความสุขที่ยั่งยืนสืบไป
3. กล้าตัดสินใจ
หลายครั้งที่คุณต้องตกอยู่ในสภาวะ “ตัดสินใจลำบาก” หรือในบางครั้งเพราะความ “ไม่กล้า” ทำให้คุณผัดผ่อนไปก่อน แต่การลังเลและเลื่อนการตัดสินใจ ที่สามารถทำได้ในวันนี้ออกไป ทำให้คุณพลาดโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิตก็เป็นได้ ลองดูคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นตัวอย่าง พวกเขาจะไม่มีทางมาถึงจุดนี้ได้ หากมัวแต่ยืดเวลาออกไป โดยไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาด
4. สร้างรอยยิ้ม
ผลลัพธ์ที่เกิดจากการ “ยิ้ม” นั้น มีมากจนน่าประหลาดใจ เพราะนอกจากจะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์แจ่มใส และมีสุขภาพดีแล้ว การยิ้มยังช่วยสร้างมิตรภาพและอารมณ์เบิกบาน แก่ผู้รับและบุคคลที่ได้พบเห็นอีกด้วย แม้สภาพสังคมทุกวันนี้จะวุ่นวายเร่งรีบขนาดไหน จงอย่าละเลยที่จะส่งยิ้มให้กันในชีวิตประจำวัน อันจะนำมาซึ่งความสุขสดชื่น
5. เปิดใจให้กว้าง
การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความสงบสุขนั้น คุณจำเป็นต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นของคนที่คิดแตกต่าง แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องที่เขาคิดหรือทำก็ตาม รวมทั้งเปิดใจพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในโลกปัจจุบัน และอยู่กับมันอย่างมีความสุข โดยไม่คร่ำครวญหรือถวิลหาอดีตที่ผ่านเลยไปแล้ว ซึ่งจะทำให้คุณทุกข์ใจไม่จบสิ้น
6. อย่าบงการชีวิตคนอื่น
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้ชีวิตของตัวเอง เพราะฉะนั้นอย่ามัวยุ่งเรื่องของคนอื่นว่าเขาจะทำอย่างไรกับชีวิต แต่ควรเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตของตัวเองให้เต็มศักยภาพจะดีกว่า และปล่อยให้ผู้อื่นจัดการชีวิตของเขาเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าคุณจะเป็นปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่ หรือสามีภรรยา คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะบงการชีวิตลูกหลานหรือคนรัก ให้ทำตามความต้องการของคุณ เพราะหากไม่มีใครสนใจทำตามที่คุณสั่ง ในที่สุด คนที่จะมีแต่ความทุกข์ก็คือคุณนั่นแหละ ทางที่ดี เปลี่ยนจากการบงการชีวิต เป็นการชี้แนะการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ก็จะทำให้ผู้รับคำแนะนำมีความสุข และคุณเองก็จะมีความสุขด้วย
7. มองว่าความทุกข์คือ ครู
อย่ามัวนั่งจมอยู่กับทุกข์ และมองว่าความทุกข์เป็นเรื่องเลวร้ายไปซะทั้งหมด แต่จงมองว่าความทุกข์คือครูที่ให้บทเรียนแก่ชีวิต ความทุกข์จะทำให้คุณได้เรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งให้พลังแฝงในการเอาชนะความยากลำบากต่างๆ เพื่อก้าวข้ามเรื่องทุกข์ร้อนทั้งหลาย ดังนั้น หากคุณเรียนรู้ที่จะจัดการกับความทุกข์ และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ชีวิตของคุณก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและมีความสุข
8. อย่าซีเรียสกับตัวเองจนเกินไป
หากคุณใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความเคร่งเครียด ซีเรียสกับตัวเองมากเกินไป ชนิดที่ว่าต้องทำตัวตามตารางที่วางไว้เป๊ะๆ เพราะเมื่อคุณทำไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ ก็จะยิ่งเกิดความเครียดทวีคูณ อาจทำให้โรคภัยไข้เจ็บมาเยือนได้ง่ายๆ ควรรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่ให้ชีวิตตึงหรือหย่อนเกินไป เรียกว่า ใช้ชีวิตตามทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
9. มีอารมณ์ขัน
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า อารมณ์ขันและการหัวเราะคือโอสถชั้นดีที่ช่วยลดความดันโลหิต คลายความเจ็บปวด ทำให้หายใจดีขึ้น รวมถึงกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
10. ยึดถือข้อเท็จจริง
ในการตัดสินใจและยอมรับความเสี่ยงทุกครั้ง ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีความยุติธรรม หลีกเลี่ยงอคติ ดังจะเห็นได้จากบรรดาผู้นำที่ปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จงดงามด้วยข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในมือ ไม่ใช่ด้วยอารมณ์และความมีอคติ ดังนั้น คราใดที่ต้องตัดสินใจ ควรยึดถือข้อเท็จจริง โดยปราศจากอคติใดๆ
11. ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
มนุษย์ทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาแล้วทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ไม่มีใครในโลกที่ไม่เคยทำผิดมาก่อน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อทำผิด เราได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง และจะแก้ไขอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก โปรดอย่าเสียเวลาทั้งชีวิตไปกับการขุดคุ้ยความผิดที่คุณเคยกระทำเมื่อหลายปีก่อน แต่จงเรียนรู้จากมันและเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป โลกใบนี้หมุนเร็วเกินกว่าที่จะรอคอยคนที่ยังจมปลักอยู่ในอดีต
12. ให้อภัยตัวเอง
การให้อภัยตัวเองเป็นทักษะที่น้อยคนนักจะทำได้สำเร็จ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลายคนมัวแต่ใช้เวลาทั้งชีวิตฝังอยู่ในอดีต และไม่เคยคิดจะดำเนินชีวิตในปัจจุบันให้เต็มศักยภาพ หากคุณยังให้อภัยตัวเองไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะอภัยให้ผู้อื่นได้เลย ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือจงให้อภัยตัวเองเสียแต่วันนี้ แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สดใสงดงาม
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย ประกายรุ้ง