นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่านโยบายสำคัญที่รัฐบาลปัจจุบัน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตร คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน
ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร โดยผ่านการ บูรณาการการทำงานในรูปคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ซึ่งมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายนราพัฒน์ แก้วทอง) เป็นประธานกรรมการ และ สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการการ โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรของประเทศ และสนับสนุนให้มีการนำนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรของประเทศไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินงานของคณะทำงาน 3 คณะ ได้แก่
1.คณะทำงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรอุตสาหกรรม
2.คณะทำงานโครงการพัฒนาระบบกระจายและขนส่งสินค้าเกษตรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจของไทย
3.คณะทำงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรชุมชน
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับปี 2563 สศก.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2563 – 2565 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร จำนวน 19 โครงการ วงเงินรวม 387.34 ล้านบาท โดยสามารถจำแนกเป็นโครงการที่สนับสนุนแนวทางภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2563 – 2565 ประกอบด้วย
1.ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การเกษตร จำนวน 9 โครงการ วงเงินรวม 292.37 ล้านบาท อาทิ โครงการยกระดับการตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออกให้ได้มาตรฐาน โครงการพัฒนา ระบบโลจิสติกส์ของสถาบันเกษตรกร โครงการเพิ่มศักยภาพในการรวบรวม จัดเก็บ และแปรรูปผลผลิตของสถาบันเกษตรกร โครงการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร (เชื่อมโยงตลาด 3 ระดับ คือ ตลาดชุมชน ตลาดภูมิภาค และตลาดสากล)
2.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร จำนวน 8 โครงการ วงเงินรวม 92.61 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาด่านตรวจพืช ประมงและปศุสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ โครงการพัฒนาศูนย์บริการอาหารสัตว์ (Feed Center) ในภาคเหนือและภาคตะวันออก โครงการพัฒนาระบบการให้บริการเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์ (NSW)
3.ด้านการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์การเกษตร จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 2.36 ล้านบาท อาทิ โครงการศึกษาเพื่อจัดทำต้นทุนโลจิสติกส์การเกษตร ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตร (GDPภาคเกษตร) และการทบทวนการจัดทำแผนพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานการเกษตร ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง ในช่วง ปี 2563 - 2565
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยการลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ลดการสูญเสียของผลผลิต และรักษาคุณภาพผลผลิต ตั้งแต่การจัดการในฟาร์มของเกษตรกร ผ่านสถาบันเกษตรกรไปสู่การส่งมอบหรือขนส่งผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความ พึงพอใจ ทั้งในด้านคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรและระยะเวลาในการให้บริการที่รวดเร็ว