สำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการ ด้วยการซื้อแฟรนไชส์มาบริหารเอง ภายหลังจากอิ่มตัวจากงานประจำ หรือต้องการทำควบคู่กับงานประจำก็ไม่ถือว่าผิด และบางคนที่ยังไม่มีประสบการณ์และไม่รู้จะจับต้นชนปลายอย่างไร ชี้ช่องรวย มีทริคดีๆ 5 ข้อมานำเสนอเพื่อให้คุณๆ นำไปปรับใช้ ซึ่งเราคิดว่ามีประโยชน์มากๆ
1.สำรวจตลาดและทำเล
การสำรวจตลาดและความต้องการของคนในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด นั่นเพราะความต้องการของลูกค้าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เช่น หากคุณสนใจซื้อแฟรนไชส์ร้านชานมไข่มุกที่เน้นขายในราคาไม่สูงมาก โดยกลุ่มเป้าหมายหลักๆ คือ กลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ดังนั้น พื้นที่ที่ต้องการเปิดร้านจึงควรอยู่ในบริเวณใกล้ๆ โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น
หัวใจสำคัญของการทำแฟรนไชส์ใดๆ คือ ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ต้องการทำธุรกิจ ที่นอกจากสำรวจความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นแล้ว ควรเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งในบริเวณนั้นว่ามีร้านประเภทใดอยู่แล้วบ้าง หากเป็นร้านประเภทเดียวกัน อะไรคือจุดเด่นของร้านเหล่านั้น เป็นธุรกิจแฟรนไชส์เหมือนกันหรือไม่ และเป็นที่นิยมมากน้อยแค่ไหนในพื้นที่นั้น
2.ตั้งงบประมาณการลงทุน
แฟรนไชส์แต่ละประเภทจะมีการตั้งราคาค่าลงทุนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดและอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของร้าน พื้นที่ ชื่อเสียงของแฟรนไชส์ รวมไปถึงสิ่งที่ทางผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับ ซึ่งเจ้าของแฟรนไชส์ส่วนใหญ่มักจะแบ่งราคาแฟรนไชส์ออกเป็นแพ็กเกจ เพื่อให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้มีโอกาสเลือกตามความต้องการ รวมถึงตามงบประมาณที่มีอยู่
หรือหากแฟรนไชส์ที่สนใจมีราคารวมทุกค่าใช้จ่ายแล้วเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่เป็นแฟรนไชส์ที่น่าลงทุน มีความน่าเชื่อถือและมีประสบการณ์มาหลายปี อีกทั้งมีอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีมาก คุณก็สามารถหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมโดยดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้ โดยปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ทั้งนี้ ก่อนการดำเนินการขอสินเชื่อหรือลงทุนใดๆ ควรพิจารณาความเสี่ยงทางการเงินให้รอบคอบด้วย
3.เปรียบเทียบจุดเด่นของแฟรนไชส์แต่ละแบรนด์
แฟรนไชส์แต่ละประเภทแต่ละแบรนด์มีจุดเด่นแตกต่างกันซึ่งมีผลต่อชื่อเสียงและความนิยมในหมู่ลูกค้าบางแฟรนไชส์โดดเด่นในเรื่องของวัตถุดิบซึ่งเจ้าของแฟรนไชส์ได้นำจุดนี้มาเป็นจุดขายของแบรนด์ บางแฟรนไชส์มีเมนูขึ้นชื่อของร้านที่ไม่มีเจ้าไหนมี หรือบางแฟรนไชส์อาจโดดเด่นในเรื่องของการบริการที่ดีเลิศไม่เหมือนใคร
จุดเด่นของแฟรนไชส์เหล่านี้คือ เรื่องที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรหาข้อมูลให้ละเอียดและเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกแฟรนไชส์ใดแฟรนไชส์หนึ่ง แฟรนไชส์ที่ดีควรมีจุดเด่นของแบรนด์ที่แตกต่างจากเจ้าอื่น โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าจุดเด่นเหล่านี้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากน้อยแค่ไหน
4.พิจารณาสัญญาและสิ่งที่จะได้รับจากเจ้าของแฟรนไชส์
ก่อนตัดสินใจลงทุนแฟรนไชส์ใดๆ ควรพิจารณาและตรวจสอบสัญญารวมทั้งข้อตกลงระหว่างคุณและเจ้าของแฟรนไชส์อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะบางแฟรนไชส์อาจมีข้อกำหนดในเรื่องการออกแบบตกแต่งร้าน โดยทางแฟรนไชส์จะเป็นผู้ออกแบบให้เพื่อคุมให้ภาพลักษณ์แบรนด์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจมีค่าก่อสร้างและตกแต่งเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อตกลงเรื่องสิ่งที่คุณจะได้รับ เช่น บริการหลังการซื้อแฟรนไชส์ การสอนงานพนักงานเพื่อรักษาสูตรให้ได้มาตรฐานเดียวกันในทุกแฟรนไชส์ หรือการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี เป็นต้น
5.เลือกแฟรนไชส์ที่มีประสบการณ์
คุณควรลงทุนกับแฟรนไชส์ที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงที่ดี โดยหาข้อมูลของแต่ละแฟรนไชส์ ดูเรื่องภาพลักษณ์ จำนวนสาขาในปัจจุบัน มีการเติบโตมากี่ปีแล้ว และผลประกอบการเป็นอย่างไร ดูให้หมดทั้งภาพรวมและในแต่ละสาขาแฟรนไชส์ เป็นต้น หากคุณเลือกแฟรนไชส์ที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจมานานก็จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก เพราะประสบการณ์ของแต่ละแฟรนไชส์จะแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจ ความนิยมในแต่ละช่วงเวลา และการปรับตัวของทางแฟรนไชส์ว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เท่าทันเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญนอกจากประสบการณ์แล้ว การเลือกแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมย่อมมีชัยไปกว่าครึ่งเพราะชื่อของแฟรนไชส์เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว