โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ความสำเร็จมากมายอาจเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ แต่กระนั้นก็มีความสำเร็จบางสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการร่วมลงมือทำ สิ่งนี้คือกุญแจดอกสำคัญที่สมาชิกเกษตรกร กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ นำมาเป็นหลักคิดในการสรรหาวิธีต่าง ๆ นานา ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน โดยไม่ยึดรูปแบบตายตัว แต่ยึดถือบริบทของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบันมาช่วยในการตัดสินใจ

90 ครัวเรือนเท่าเทียมด้วยการบริหารจัดการน้ำแบบรอบเวร

นายวิลัย แก้วจันทร์ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่า แต่เดิมก่อนที่จะมาตั้งกลุ่มนั้น เกษตรกรกว่า 90 ครัวเรือนมีปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำซึ่งไม่ได้รับน้ำอย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2556 จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น ในชื่อ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ ภายใต้การดูแลและแนะนำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบน สำนักงานชลประทานที่ 15 เพื่อบริหารจัดการน้ำให้แก่เกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ระยะความยาวประมาณ 3.3 กิโลเมตร โดยมีแหล่งน้ำต้นทุนจากคลองแดน ตำบลควนชะลิก อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาบริหารจัดการแบบรอบเวร

“เราจะใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำแบบรอบเวร ทำการแบ่งออกเป็น 3 โซนรับน้ำ ได้แก่ โซนที่ 1 คือ เหมืองสิบหาบและบ้านหนองนุ้ย ซึ่งอยู่ปลายน้ำให้ได้รับน้ำก่อน โซนที่ 2 คือ พรุอ้ายเลและทุ่งระโนด เป็นพื้นที่กลางน้ำและโซนที่ 3 คือ หนองไม้แก่น เป็นพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีคณะกรรมการโซนเป็นผู้ดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามกฎกติกา”

การเกื้อกูลระหว่างเกษตรกร 2 ลุ่มน้ำ

นอกจากการบริหารจัดการน้ำแบบรอบเวรแล้ว กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ ยังมีการสร้างสัมพันธ์ที่ดีเกื้อกูลกันระหว่างเกษตรกร 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำปากพนัง แบ่งปันน้ำ แบ่งปันน้ำ ใจกันและกัน

“สำหรับเกษตรกร 2 ลุ่มน้ำ เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอดโดยเราจะทำการขอรับน้ำที่เสียหรือน้ำที่ผ่านการใช้ทำการเกษตรแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องสูบน้ำจากเขตทุ่งระโนด-กระแสสินธุ์ ที่มีจุดเชื่อมรอยต่อกับกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ ปิดกั้นประตูระบายน้ำและรับน้ำไว้ก่อนจะไหลลงสู่คลองแดน ซึ่งทำให้ได้รับประโยชน์จากน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

คันนาเงิน คันนาทองคำ

ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือการบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลาปกติที่ไม่เกิดวิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงเช่น พ.ศ. 2563 โดยปัจจุบันน้ำในคลองแดนเริ่มแห้งแล้ง อีกทั้งสถานการณ์ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ การพึ่งพาตนเองให้ได้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สมาชิกของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ จะต้องมีความรักใคร่สมัครสมานกลมเกลียวกันมากกว่าแต่ก่อน เพื่อให้ผ่านฤดูแล้งนี้ไปให้ได้ จึงเป็นที่มาของ “โครงการคันนาเงิน คันนาทองคำ”

ปัจจุบัน เมื่อเกิดวิกฤตภัยแล้ง ทางกลุ่มจึงได้มีการประชุมวางแผนการพึ่งพาตนเองด้านน้ำในระยะยาว โดยมีกรมชลประทานคอยเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ ใช้ชื่อว่าโครงการคันนาเงิน คันนาทอง ภายใต้การออกแบบพื้นที่ด้วยหลักการโคก หนอง นา โมเดล โดยเป็นการนำเอาทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ออกแบบแปลงเกษตรให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เราจะเดินหน้าตามศาสตร์พระราชา เช่น ไม่นำดินที่ขุดขึ้นมาเพื่อไปขาย แต่นำมาสร้างโคกบนพื้นที่ของตนเอง สร้างที่อยู่อาศัย ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้และในส่วนที่ขุดดินขึ้นมาซึ่งจะมีลักษณะเป็นหนอง ก็จะนำไปกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น ส่วนพื้นที่ที่เหลือจากการขุดหนองกับทำโคก ก็ทำเป็น พื้นที่ทำนาปลูกข้าวและปลูกพืชผสมผสาน มีทั้งพืชระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้น”

จาก 3 สถานการณ์ข้างต้น จะพบว่ากลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานพรุอ้ายเลร่วมใจ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีความมุมานะสามัคคีที่จะฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาภัยแล้งไปด้วยกันและในทุก ๆ เดือน จะมีการนัดหมายประชุมเพื่อระดมความคิดสรรหาวิธีการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ รวมถึงการวางมาตรการประหยัดน้ำ สมาชิก 90 ครัวเรือนจึงสมควรแก่การชื่นชมและเป็นแบบอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่จะร่วมสร้างความยั่งยืนด้านน้ำให้แก่ประเทศได้ในอนาคต