โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สศก. เผยแผนเยียวยาแรงงานคืนถิ่นที่ได้รับผลกระทบไวรัสโควิด-19

ผลพวงจากสถานการณ์โคโรนาไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มแรงงานผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบต่างๆ นาๆ ไม่ว่าจะเป็น ว่างงาน ขาดรายได้ และไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับ ดังนั้น ทาง สศก. จึงได้ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรและแรงงานที่ได้รับผลกระทบและเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาในสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) เน้นย้ำการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 พร้อมได้เปิดเผยถึงแนวทางมาตรการการเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 หลังจากตนเองได้ลงพื้นพร้อมผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ 11 และคณะ ณ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีษะเกษ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 เพื่อหารือกับ ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) อ. กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ เตรียมทางรอดรองรับแรงงานคืนถิ่นจากกรุงเทพ ที่ตกงานจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึง แรงงานไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ เช่น เกาหลี และจีน เป็นต้น

โดย สศก. เตรียมเสนอ โครงการ “แรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทยด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อเป็นอาชีพทางรอดสำหรับการเยียวยา เน้นการทำการเกษตรผสมผสานแบบพอเพียง เพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ภายใน 7-10 วัน เป็นทางรอด และสร้างภูมิคุ้มกันในสภาวะปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคร้ายโควิดนี้ โดยเน้นการปฎิบัติอย่างมีสติ คิดและทำเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้จิตมีสมาธิสามารถทบทวนแก้ไขปัญหา หลุดกับดักที่ประสบอยู่ จากนั้นค่อยเรียนรู้และขยายผลสู่การทำการเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน พลิกฟื้นชีวิตด้วยศาสตร์พระราชา

ด้าน นายเชิดชัย จิณะแสน เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ศพก) ระดับประเทศ และปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด 19 มาโดยตลอด และมีความเป็นห่วงแรงงานที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล ดังนั้น ตนเอง พร้อมจะถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำการเกษตร ด้วยการใช้ศาสตร์พระราชา มากว่า 20 ปี รวมถึงประสบการณ์ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคมมากกว่า 13 ปี ร่วมกับ สศก.และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กับแรงงานคืนถิ่นและผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19

โดยยินดีนำศูนย์ ศพก. ของตนเอง เข้าร่วมโครงการนำร่องร่วมกับ สศก. จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาและขยายผลสู่แรงงานคืนถิ่นที่สนใจทำการเกษตรผสมผสาน ตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง สู่การเกษตรยั่งยืน เบื้องต้น ในศูนย์การเรียนรู้ จะประกอบด้วย 9 ฐานเรียนรู้หลัก ประกอบด้วย ฐานเริ่มต้นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ฐานพิพิธภัณฑ์ชาวนา ฐานที่อยู่อาศัย ฐานการทำประมงเพาะเลี้ยง ฐานการเลี้ยงปศุสัตว์ ฐานปลูกพืชสวนครัว ฐานการปลูกไม้ผล ฐานการปลูกสวนป่า ไม้เศรษฐกิจ อาทิ พะยูง และสัก เป็นต้น และฐานทำนา

เลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเร่งจัดทำร่างโครงการแล้วเสนอปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมดำเนินการกับ สศก. และ กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) รวมทั้ง สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรณี หากต้องใช้ที่ดินของ ส.ป.ก. ในการเร่งขยายผลการฝึกอบรมสร้างความรู้ผ่านไปยัง ศพก. ทั่วประเทศ 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายกว่า 10,000 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันในสภาวะปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคร้ายโควิดครั้งนี้

นอกจากนี้ สศก. ยังได้เตรียมเสนอโครงการที่สำคัญอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการบัณฑิตจิตอาสาร่วมพัฒนาสหกรณ์ไทย โดยมีเป้าหมายให้นิสิต นักศึกษาจบใหม่ในระดับปริญญาตรี ที่หางานทำยากในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เข้ามามีส่วนร่วมฝึกอบรมและช่วยปฎิบัติงานจริง ณ หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิสหกรณ์การเกษตร ทั่วประเทศ

2.โครงการสร้างผู้ประกอบการด้านการให้บริการทางการเกษตร Agri-business provider โดยมีกลุ่มเป้าหมายให้นิสิต นักศึกษาจบใหม่ หรือแรงงานผู้ถูกเลิกจ้าง ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรสมัยใหม่เข้ารับการอบรมเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร Agri-tech and Inovation ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-tech and Innovation Center:AIC) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำบันทึกความร่วมมือ ( MOU) กับสถาบันการศึกษา 77 จังหวัดทั่วประเทศไว้แล้ว เพื่อพัฒนาและต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพด้านการให้บริการทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ก้าวสู่การทำการเกษตรแบบแม่นยำ precision farming และการเป็น smart farmer ต่อไป