ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานลูกจ้าง-ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ เพื่อลดผลกระทบไวรัส COVID-19 โดยได้อนุมัติให้เงินจำนวน 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
โดยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวม 3 มาตรการด้วยกัน คือ เสริมสภาพคล่อง ลดภาระ และเพิ่มทักษะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการเสริมสภาพคล่องของแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
โดยให้สนับสนุนเงินเยียวยารายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จากการปิดสถานที่ทำงาน ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับการสนับสนุนเงินดังกล่าวจำนวน 3 ล้านคน สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิกรณีว่างงาน จะได้รับเงินเยียวยาจากประกันสังคม 50 % ของเงินเดือนในกรณี
- นายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน
- รัฐสั่งให้หยุดการทำงาน รับเงินไม่เกิน 90 วัน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านสินเชื่อส่วนบุคคล โดยมีสินเชื่อฉุกเฉินวงเงิน 40,000 ล้านบาท สามารถยื่นกู้ได้ 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.1 % ต่อเดือน โดยผู้ยื่นกู้ไม่ต้องมีหลักประกัน และสินเชื่อพิเศษ 20,000 ล้านบาท ยื่นกู้ได้รายละ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน โดยผู้กู้จะต้องมีหลักประกันในการกู้ รวมทั้งอนุมัติวงเงิน 2,000 ล้านบาท ให้กับโรงรับจำนำ เปิดรับจำนำสิ่งของในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยคิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125 % ต่อเดือน
2.มาตรการลดภาระ ให้ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยเลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 และหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มวงเงินหลักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์
3.มาตรการเพิ่มทักษะ
โดยจัดให้มีการฝึกอบรมมีเงินใช้ เพิ่มทักษะอาชีพหรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานทำไม่ได้ และขยายการฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองทุนหมู่บ้านฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เป็นต้น
ที่มา : ThaiQuote