โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

‘กรมเจรจาฯ’ แนะผู้ประกอบการพลิกวิกฤตโควิด-19 เร่งใช้ FTA เพิ่มส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แนะผู้ประกอบการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เร่งใช้เอฟทีเอเพิ่มส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกต้องการซื้อสินค้าอาหารที่เก็บไว้ได้นานมากขึ้น อาทิ อาหารแห้ง และอาหารกระป๋อง จึงเป็นโอกาสที่ไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปอันดับต้นของโลก

โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่มีศักยภาพในการผลิตสูง และเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน จะสามารถเพิ่มการผลิตและใช้แต้มต่อจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ขยายการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปตามความต้องการของตลาดโลกได้ ซึ่งปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ

โดยมีประเทศคู่เอฟทีเอ 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปทุกรายการจากไทยแล้ว สำหรับอีก 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ

นางอรมน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ความตกลงเอฟทีเอช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปทั่วโลกเป็นมูลค่าสูงถึง 3,775 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 227

เมื่อเทียบกับก่อนที่ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับอาเซียน ในปี 2535 ซึ่งประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อาเซียน เปรู และเกาหลีใต้ ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง สัดส่วนร้อยละ 57 รองลงมาคือ กุ้งกระป๋องและแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 19 ปลาแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 9 และปลาซาร์ดีนกระป๋อง สัดส่วนร้อยละ 4

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ พบว่า มูลค่ารวม 1,407 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 37 ของการส่งออกทั้งหมด และเมื่อนับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวขึ้นทุกตลาด

โดยจีนขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 4,457 รองลงมา คือ เปรูขยายตัวร้อยละ 2,088 อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 613 เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 246 และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 114 ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่พบว่าสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกด้วยเอฟทีเอเป็นอันดับต้น

“แม้ความต้องการบริโภคอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่เพิ่มขึ้น จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจเป็นความต้องการระยะสั้น แต่ตลาดสินค้าดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชากรโลกมีความต้องการบริโภคสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงของไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า

และวิธีการทำประมงให้สอดรับกับกฎเกณฑ์และมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สู่การเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญของโลก” นางอรมน กล่าว