ธุรกิจแฟรนไชส์ ยังคงเป็น “ทางลัด” ของผู้ที่ต้องการจะลงทุนทำธุรกิจ เพราะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ลงทุนน้อย มีระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน และได้รับผลตอบแทนเร็ว (ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ) ดังนั้น การลงทุนสู่ความสำเร็จในการสร้างธุรกิจหรือผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนหรือคนที่จะก้าวมาเป็น แฟรนไชส์ซี จึงมีความสำคัญ เพราะถ้าแฟรนไชส์ซีเติบโตประสบความสำเร็จเพียงไหน นั่นหมายถึงแฟรนไชส์ซอจะประสบความสำเร็จได้มากเช่นกัน
ทว่า ในมุมของนักลงทุนหรือ แฟรนไชส์ซี เมื่อกำเงินไปให้เจ้าของแบรนด์หรือแฟรนไชส์ซอร์แล้วก็อยากได้รับการการันตีหรือการสนับสนุนระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่มีมาตรฐานอย่างแท้จริงเพื่อให้ลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทน ต่อยอดผลกำไรและกิจการสาขาให้เติบโตเฉกเช่นร้านต้นแบบ
ข้อมูลจาก FLA ได้มีข้อแนะนำสำหรับทั้งแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี โดยไม่ว่าจะขยับขยายธุรกิจหรือจะลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์อะไรก็ตามแต่ ทั้ง 2 กลุ่มควรตระหนักและคำนึงถึง 5 ปัจจัย ที่จะช่วยสร้างระบบธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีมาตรฐาน และทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ win win ทุกฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยดังต่อไปนี้
1.แผนธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ แฟรนไชส์ซี ต้องการที่สุดในการลงทุนซื้อแฟรนไชส์คือ “รูปแบบธุรกิจ” หรือ Business Model ที่ดำเนินธุรกิจมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ว่า ประสบความสำเร็จทั้งด้านการเงินและชื่อเสียง มีแบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับ มีสินค้าและบริการเป็นที่นิยม เป็นต้น
2.มีหลักสูตรฝึกอบรม และมีคู่มือปฏิบัติงาน
แฟรนไชส์ซอร์ต้องเตรียมหลักสูตรการอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และกระบวนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้แฟรนไชส์ซี เพื่อทำการฝึกพัฒนาจนสามารถดำเนินธุรกิจได้เหมือนกับแฟรนไชส์ซอร์
ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจลงทุน แฟรนไชส์ซี ควรสอบถามระยะเวลาการอบรม ตรวจดูหลักสูตรต่าง ๆ และเตรียมตัวเองให้พร้อม สำหรับระยะเวลาการฝึกอบรม และควรสอบถามว่า มีแผนการอบรมเพิ่มเติม และแผนการดูแลสนับสนุนการดำเนินงานจากแฟรนไชส์ซอร์อย่างไรบ้าง
3.ระบบการตลาด
แฟรนไชส์ซอร์ ต้องสนับสนุนแผนการตลาดเพื่อช่วยให้แฟรนไชส์ซีเติบโตและมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะค่าการตลาดที่แฟรนไชส์ซอร์เรียกเก็บจากแฟรนไชส์ซีนั้น จะถูกใช้ไปกับกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ อย่างเป็นระบบแบบแผน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ และนำเสนอแผนการตลาดใหม่ ๆ ในอนาคต
4.อัปเดทระบบเทคโนโลยี
แฟรนไชส์ซอร์ ต้องพัฒนาระบบสารสนเทศ หรือระบบไอทีของตนเองอย่างต่อเนื่องให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัยและแม่นยำ ซึ่งสามารถใช้ติดต่อประสานงานกับแฟรนไชส์ซี และใช้ตรวจสอบผลการทำงานเพื่อดูแลสนับสนุน
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลด้านยอดขาย ข้อมูลการสั่งซื้อสินค้า ข้อมูลการตลาดเป็นต้น ทั้งนี้ระบบดังกล่าวควรใช้ตรวจสอบข้อมูลภายในของแฟรนไชส์ซอร์เองได้ด้วย
5.สร้างระบบเครือข่ายแฟรนไชส์ซี
เป็นสิทธิ์ของนักลงทุนรายใหม่ ๆ ซึ่งควรมีโอกาสสอบถามความเห็นของแฟรนไชส์ซี ปัจจุบันว่า ได้รับการดูแลสนับสนุนหรือมีปัญหาใด ๆ ในการดำเนินธุรกิจอย่างไร ซึ่งการรวมตัวของแฟรนไชส์ซีหรือเครือข่ายนี้จะเป็นบ่งชี้ประเมิน KPI และช่วยพัฒนาระบบแฟรนไชส์ได้อย่างดี
บทสรุปทั้ง 5 ข้อ คือ หลักพิจารณาให้กับ แฟรนไชส์ซอร์ ว่า ระบบแฟรนไชส์ของคุณมีระบบมาตรฐาน และพร้อมสนับสนุนผู้สนใจมาร่วมลงทุนกับคุณดีพอหรือยัง และเพื่อเป็นประโยชน์กับ แฟรนไชส์ซี ในการไตร่ตรองก่อนลงทุนแฟรนไชส์ใด ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเสียใจในภายหลัง
ขอขอบคุณที่มาจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA)