ในช่วงวัยทำงานอย่างเราๆ ที่ต้องดิ้นรนขวนขวายหาเงินสร้างรายได้เพื่อนำมาดูแลตนเองรวมไปถึงสมาชิกในครอบครัว ดังที่กล่าวว่า “อันเงินทองนั้นรู้จักหามาได้เยอะแยะมากมาย แต่ถ้าไม่รู้จักการใช้เงิน เงินทองที่เราหาได้ก็จะหมดไปในสักวัน ดังนั้น วิธีที่เราจะใช้เงินอย่างคุ้มค่าและเหมาะสมนั้นเป็นอย่างไร ชี้ช่องรวย มีข้อแนะนำมาฝากดังนี้
1.วางแผนใช้จ่าย
เมื่อได้เงินมาแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในแต่ละเดือน รายการไหนที่ต้องใช้จ่ายหลัก เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ควรแยกแยะ และจัดสรรออกมาก่อนเป็นก่อนแรก
เคล็ดลับ : จัดทำงบประมาณเงินสดส่วนตัว ด้วยการจดในสมุดหรือบันทึกในมือถือ แบ่งเป็น รายได้และค่าใช้จ่าย จากนั้นให้จัดสรรให้เหมาะสม เป็นการวางแผนค่าใช้จ่ายให้สอดสอดคล้องกับเงินที่หามาได้
2.คุมการใช้จ่าย
สิ่งที่ต้องยึดหลักมากๆ นั่นคือ สติ เมื่อมีสติเราจะสามารถใช้จ่ายเงินไปได้อย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตก่อนที่จะซื้อสินค้าต้องถามตัวเองก่อนว่า จำเป็นต้องใช้หรือซื้อมาแล้วมีประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่ก็ควรเก็บเงินของคุณไว้ใช้ในยามจำเป็นจริงๆ ดีกว่า
เคล็ดลับ : โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ เงินทุกบาทที่จ่ายออกไปต้องสมเหตุสมผล มีสติในการใช้ ซึ่งวิธีง่ายๆ คือ ถามตัวเองก่อนว่า ซื้อมาแล้วมีประโยชน์หรือไม่ และควรซื้อมากน้อยแค่ไหน
3.หยุดใช้จ่ายของฟุ่มเฟือยไว้ก่อน
ในนาทีวิกฤตเยี่ยงนี้ ควรจะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นจริงๆ ดีกว่า แปลว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตต้องหยุดซื้อ อย่างเช่นช้อปปิ้งออนไลน์แบบฟุ่มเฟือย สั่งสินค้าทุกครึ่งชั่วโมงอย่างนี้ เห็นทีกระเป๋าของคุณฉีกแน่นอน
เคล็ดลับ : ของบางอย่างที่ซื้อมาแต่ยังไม่ใช้ หรือใช้แล้วแต่ยังอยู่ในสภาพดีอยู่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ใหม่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าใช้ของอย่างรู้คุณค่า และใช้อย่างคุ้มค่าอย่างแท้จริง วิธีนี้จะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย
4.หยุดใช้บัตรเครดิต
ในช่วงที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน ทำให้มีโอกาสสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้น แปลว่าต้องจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ผลที่ตามมา คือ หากชาระหนี้แบบขั้นต่ำก็จะมีดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ดังนั้น ถ้าอยากมีเงินเหลือเก็บไว้ซื้อของจำเป็นต้องหยุดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
5.ทบทวนการใช้จ่าย
เมื่อมีแผนการใช้จ่าย จดบันทึกรายจ่าย ก็ต้องหมั่นทบทวนการใช้จ่ายสม่ำเสมอ เช่นใน 1 สัปดาห์ต้องตรวจสอบว่าใช้เงินซื้ออะไรบ้าง ใช้ตามงบประมาณที่กำหนดไว้หรือไม่ มีค่าใช้จ่ายไหนที่เกินงบบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้รู้ว่าหมดเงินไปกับอะไร และต้องปรับปรุงตรงไหน จากนั้นก็ลงมือแก้ไขการ ใช้จ่ายเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น