โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

‘กรมเจรจาฯ’ ชี้ โควิดทำตลาดสบู่คึกคัก แนะใช้เอฟทีเอขยายส่งออก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ พฤติกรรมการล้างมือป้องกันไวรัสโควิด-19 ทำยอดส่งออกสินค้าสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวช่วง 2 เดือนแรกปี 2563 พุ่งร้อยละ 19 เชียร์ผู้ประกอบการคว้าโอกาส เร่งใช้เอฟทีเอเพิ่มส่งออกตลาดโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดสินค้าสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดร่างกายเพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสมากขึ้น โดยเฉพาะการล้างมือ สอดคล้องกับสถิติการส่งออกสินค้าสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวของไทยไปตลาดโลก ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวทุกตลาด อาทิ ฮ่องกงขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 181 รองลงมา ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 30 ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 29 และอาเซียน ขยายตัวร้อยละ 16 โดยอาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 49 ของการส่งออกสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวทั้งหมด

ความต้องการสินค้าสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออก และยังคาดการณ์ว่าในระยะยาว ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสบู่เพื่อป้องกันเชื้อโรค สบู่เพื่อความงาม รวมถึงสบู่ที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติหรือสมุนไพร เนื่องจากผู้บริโภคจะหันมาสนใจเรื่องการรักษาสุขอนามัย ผิวพรรณ และภาพลักษณ์ จึงเป็นโอกาสทองที่สินค้าสบู่ของไทยจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อสร้างแต้มต่อในการส่งออก โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่สบู่ของไทยได้รับความนิยม และมีมูลค่าการนำเข้าในปี 2562 จากทั้ง 3 ตลาด เป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศคู่ FTA 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และชีลี ไม่เก็บภาษีนำเข้าสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวจากไทยแล้ว ส่วนอีก 3 ประเทศคู่เอฟทีเอที่เหลือ คือ เกาหลีใต้ อินเดีย และ เปรู ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสบู่บางประเภท

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวอันดับที่ 9 ของโลก มีมูลค่าส่งออกกว่า 279 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าการส่งออกไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ สูงถึง 221 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของการส่งออกสินค้าสบู่ของไทยทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2535 ก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4,965 หากแยกรายตลาด พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าสบู่ของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นิวซีแลนด์ ขยายตัวร้อยละ 6,300 อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 5,208 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 4,363 และ จีน ขยายตัวร้อยละ 1,350 นับว่าเอฟทีเอเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวของไทย มีจุดเด่นคือความแปลกใหม่และการมีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติหรือสมุนไพรที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้า และให้ความสำคัญกับกฎระเบียบของประเทศปลายทางอย่างเคร่งครัด เช่น การจัดทำข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การแจ้งส่วนผสม การจัดทำฉลาก การขออนุญาตวางจำหน่าย สารเคมีที่ต้องห้าม รวมทั้งระมัดระวังการกล่าวอ้างสรรพคุณเพื่อสุขภาพและความงาม” นางอรมน กล่าว