โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เคาะแล้ว! มาตรการเยียวยาเกษตรกร 1.5 แสนล้าน และ ผู้พิการ 2 ล้านราย

ครม.เคาะแล้ว เงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยแบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 2563 ตั้งเป้าผู้ได้รับการเยียวยาจำนวน 10 ล้านคน ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันก็ได้ไฟเขียว จ่ายเงินเยียวยาคนพิการ 1,000 บาท จำนวน 2 ล้านคน พร้อมเพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,000 บาทครบทุกคนเริ่ม 1 ต.ค.2563 นี้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (28 เม.ย.63) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอผ่านกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ รูปแบบการจ่ายเงินเยียวยาจะใช้ในรูปแบบเดียวกันกับการจ่ายเงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” โดยจะจ่ายเงินโดยตรงให้ถึงมือเกษตรกรรายละ 5,000 บาทต่อเดือน และทยอยจ่ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 โดยจ่ายให้กับหัวหน้าครอบครัว

สำหรับกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนทั้งหมด 10 ล้านราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย และกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการลงทะเบียน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินช่วยเหลือเยียวยา 150,000 ล้านบาท

ทางด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (28 เม.ย.63) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบเงินเยียวยาผู้พิการทุกคนที่มีบัตรผู้พิการจำนวน 2 ล้านคน และเพิ่มเบี้ยผู้พิการ จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท ให้กับผู้พิการที่ถือบัตรผู้พิการ และมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งถือเป็นทั้งผู้พิการและผู้มีรายได้น้อย โดยมีผู้ได้รับสิทธิจำนวน 1 ล้านคน

นอกจากนี้ ทาง พม.ได้เสนอขอให้ ครม.เห็นชอบเพิ่มเบี้ยคนพิการ เพิ่มอีกจำนวน 900,000 คน โดยภายในจำนวนนี้มีผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 120,000 คน ซึ่งจะทำให้ผู้พิการที่มีบัตรผู้พิการทั้งหมดได้รับเบี้ยคนพิการเดือนละ 1,000 บาททุกคน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้พิการ 1,000 บาทจำนวน 1 ครั้งนั้น จะมีผู้พิการที่ได้รับเงินทั้งหมด 2,027,459 คน จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมวงเงินทั้งหมด 2,027,459,000 ล้านบาท