ลำน้ำยาม เป็นลำน้ำเปรียบดังสายเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงพี่น้องชาวอีสานมาแต่ครั้งบรรพบุรุษต้นน้ำกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน เขตอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ไหลผ่านทางทิศใต้ของอำเภอวานรนิวาส และอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร แล้วจึงไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสงครามที่บ้านปากยาม อำเภอศรีสงครามจังหวัดนครพนม
โดยบริเวณลำน้ำยาม มีพื้นที่ส่วนใหญ่ลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ประชาชนมีอาชีพทำนาปลูกข้าวในฤดูน้ำหลาก แต่กระนั้นในฤดูฝนระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงมาก และดันปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลมาสู่แม่น้ำสงคราม ซึ่งไหลผ่านอำเภอวานรนิวาส อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนมทั้งสองจังหวัดจึงได้รับผลกระทบจากน้ำในแม่น้ำโขงที่มีระดับสูงเป็นประจำทุกปี
พ.ศ. 2560 ฝนถล่ม จังหวัดสกลนคร น้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 60 ปี
ประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่แถบลำน้ำยาม มักจะทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก โดยอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติในการสร้างผลผลิตจึงทำให้เกิดปัญหาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีความไม่แน่นอน เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ โดยในพ.ศ. 2560 จังหวัดสกลนครประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 60 ปีซึ่งสร้างความเดือดร้อนและเสียหาย
ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะน้ำได้เข้าท่วมถึง 18 อำเภอด้วยกัน ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอพังโคน อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูนอำเภอวานรนิวาส อำเภอคำตากล้า อำเภอบ้านม่วง อำเภออากาศอำนวยอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาว อำเภอเต่างอย อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอโพนนาแก้ว อำเภอภูพาน โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอวานรนิวาสน้ำท่วมครั้งใหญ่ ได้สร้างความเสียหายพื้นที่การเกษตรประมาณ 51,700 ไร่และเมื่อสภาพพื้นที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในปีที่ฝนตกน้อยหรือฝนทิ้งช่วงนานเกินไป ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในบริเวณที่ดอนจนทำให้ได้รับความเสียหายซ้ำซาก
กรมชลประทานวางแผนดำเนินโครงการ
เมื่อประจักษ์ชัดเจนถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในแถบลำน้ำยามต่อเนื่องไปยังลุ่มแม่น้ำสงครามและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมวลรวม กรมชลประทานจึงได้หาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานจึงวางแผนดำเนินโครงการ โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (พ.ศ. 2562–2566) เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมและบริหารจัดการน้ำในลำน้ำยาม ซึ่งเป็นลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำสงคราม
โดยโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ มีหัวงานตั้งอยู่ที่บ้านก่อ ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วยงานก่อสร้างประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ 1 แห่ง ลักษณะเป็นประตูระบายน้ำชนิดบานระบายตรง จำนวน 4 ช่อง ขนาดช่องกว้าง 8.00 เมตร สูง 8.30 เมตร มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทานครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่จำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่เหนือประตูระบายน้ำบ้านก่อ บริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำยาม
โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ ประโยชน์เมื่อแล้วเสร็จ
โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานประมาณ 10,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,067 ครัวเรือน สามารถบรรเทาอุทกภัยและปัญหาขาดแคลนน้ำในบริเวณลำน้ำยาม และเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในลำน้ำยามบริเวณบ้านก่อไว้ช่วยเหลือการเพาะปลูกโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งให้แก่พื้นที่เพาะปลูกของอำเภอวานรนิวาสจังหวัดสกลนคร อีกทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในเขตลำน้ำยาม เป็นแหล่งน้ำสำหรับการประมง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และการเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ
สำหรับแผนพัฒนาลุ่มน้ำสงครามนั้น นอกจากประตูระบายน้ำบ้านก่อกรมชลประทานมีแผนการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมระบบส่งทั้งหมดอีก8 แห่ง โดยก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว 3 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำลำน้ำยาม มีพื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่ ประตูระบายน้ำน้ำอูน มีพื้นที่รับประโยชน์9,000 ไร่ และประตูระบายน้ำบ้านหนองบัว มีพื้นที่รับประโยชน์ 12,000 ไร่และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำบ้านห้วยทราย
เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 70,800 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 4 แห่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ได้แก่ ประตูระบายน้ำบ้านนาถ่อน ประตูระบายน้ำบ้านซ่อมกอก ประตูระบายน้ำบ้านปากยาม และประตูระบายน้ำปากแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำ ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์เปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างแท้จริงของผู้คนแห่งลุ่มแม่น้ำสงคราม แม่น้ำผืนใหญ่สายน้ำแห่งชีวิต