โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

3 Step ภาคธุรกิจ และ การจ้างงานไทย จะฟื้นอย่างไร หลังคลายล็อกดาวน์โควิด-19

นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีกับการผ่อนคลายมาตรการของ ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 หรือ “ศบค.” ที่จะทยอยปลดล็อกดาวน์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้กลับมาดำเนินธุรกิจดังเดิม อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการจะผ่อนปรน แต่ก็ยังคอยเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระยะที่ 2 และจากการคลายล็อคดาวน์ครั้งทำให้มองเห็นได้ชัดว่า อัตราการจ้างงานจะเริ่มกลับมามากขึ้นด้วย

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน คนไม่ออกไปจับจ่ายใช้สอยทำให้กลไกระบบเศรษฐกิจติดขัดหยุดชะงัก ส่งผลต่อรายได้ภาคธุรกิจและทำให้การจ้างงานกว่า 16 ล้านคนในภาคธุรกิจลดลงกระทบต่อกำลังซื้อของแรงงานเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมืองไทยดีขึ้นตามลำดับทั้งในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายสามารถกลับบ้านได้มากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ภาครัฐสามารถทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ เช่นเดียวกับบางประเทศที่เข้าสู่การคลายล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเช่นกัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินแนวโน้มลักษณะการฟื้นตัวของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.ความน่าจะเป็นในการทยอยปลดล็อกทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของแต่ละธุรกิจ รวมถึงความจำเป็นของลักษณะสินค้าต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

2.ปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างธุรกิจที่มีอยู่เดิมและมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแม้ปลดล็อกดาวน์ไปแล้วเนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

ซึ่งจากวิเคราะห์ร่วมกัน 2 ปัจจัยดังกล่าว จะพบว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจหลังปลดล็อกดาวน์สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการฟื้นตัว ดังนี้

1.กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ V-Shape (ภายใน 3 เดือน) ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์โรงพยาบาล/คลินิกและยารักษาโรค ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู อาหารสัตว์ไอทีและสื่อสาร

กลุ่มนี้จะเริ่มฟื้นตัวกลับมา จากลักษณะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและส่วนใหญ่พึ่งพิงตลาดในประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังคงการจ้างงานที่มีอยู่จำนวน 4.8 ล้านคนหรือคิดเป็น 29.6% ของการจ้างงานรวมของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งกระจายตัวไปในธุรกิจผลิต-ขายปลีกขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจสุขภาพและผลิตไฟฟ้าเป็นต้น

2.กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบ U-Shape (ในช่วง 3-6 เดือน) ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ พลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เครื่องจักรกล การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางบกและทางเรือบริการธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง

กลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกต้องอาจใช้เวลาพอสมควรกว่าการคลายล็อกดาวน์จะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศและช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ทยอยจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้าง จากการจ้างงานปกติอยู่ที่ 6.4 ล้านคนหรือมีสัดส่วน 39.5% กระจายตัวไปในธุรกิจบริการทางธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างและอาหารเครื่องดื่ม

3.กลุ่มธุรกิจฟื้นแบบL-Shape (มากกว่า 6เดือน) ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ธุรกิจบันเทิงและการกีฬายานยนต์และชิ้นส่วน อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชัน เหล็ก ยางพารา

คาดว่ากลุ่มนี้อาจจะฟื้นตัวไม่ทันปีนี้ แม้ว่าปลดล็อกดาวน์แล้วแต่ยังคงได้ผลกระทบจากโควิดจากมาตรการรัฐและพฤติกรรมของผู้คนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและติดเชื้อและที่สำคัญกลุ่มนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อที่หดหายไป รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในธุรกิจจากภัยธรรมชาติ การแข่งขันภายในธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี กฎระเบียบของภาครัฐ ฯลฯ คาดว่าในปี 2564 ธุรกิจเหล่านี้จะกลับจ้างงานได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่จำนวน 5 ล้านคนหรือมีสัดส่วน 30.9% กระจายไปอยู่ในธุรกิจร้านโรงแรมร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์และกลุ่มยานยนต์

จากระยะเวลาการฟื้นตัวแต่ละธุรกิจไม่เท่ากันนี่เอง ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมรับกับลักษณะการฟื้นตัวและกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ถ้าธุรกิจฟื้นตัวแบบ V-Shape อาจจะพิจารณาให้ฝ่ายการตลาดเริ่มพูดคุยกับลูกค้าถึงสินค้าที่จะขายและเริ่มมองหาตลาดใหม่เพิ่มเติม

หากธุรกิจฟื้นตัวแบบ U-Shape อาจจะพิจารณาจัดการแผนการผลิตและการตลาดในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดรวมถึงใช้ช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น

และหากธุรกิจฟื้นตัวแบบ L-Shape จำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะเป็นธุรกิจที่ตกที่นั่งลำบาก เพราะสิ่งที่เผชิญไม่ใช่แค่โรคระบาดCOVID-19 แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมและปัญหากำลังซื้อต่อสินค้าลดลง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพพร้อมทั้งลดต้นทุนให้มากที่สุดเพื่อจะฟื้นกลับมาได้เร็วในปีหน้า สำหรับภาครัฐสามารถนำลักษณะการฟื้นตัวของ3 กลุ่มธุรกิจข้างต้นไปกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างให้เหมาะสมตามการฟื้นตัวได้ด้วยเช่นกัน