โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

5 ฮวงจุ้ย “ร้านค้าขนาดเล็ก” ทําเลแบบไหนเหมาะทำการค้า

ปัจจุบันแม้ว่ากระแสการค้าขายออนไลน์กำลังเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มเติบโต แต่ ชี้ช่องรวย ก็ไม่อยากให้มองข้ามการมีหน้าร้านสำหรับขายสินค้า เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ว่าสินค้าที่สั่งซื้อมีร้านค้าที่มีตัวตนจริงๆ ไม่ใช่มิจฉาชีพที่ประกาศขายสินค้าบนโลกออนไลน์ทั่วไป

ฉะนั้นแล้ว ทำเลสำหรับการตั้งร้านค้าจึงมีความสำคัญ สำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกทำเลร้านค้าอย่างไรให้ถูกหลักฮวงจุ้ย เรามีหลักในการเลือกทำเลเพื่อเริ่มต้นธุรกิจร้านค้ามาฝากเพื่อลองพิจารณา ดังนี้

1.ทําเลที่ตั้งร้านต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านก็ใช่ว่าจะเป็นทําเลที่ดีเสมอไป เพราะหากไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการจะขายสินค้า ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น ก่อนเลือกทําเลต้องรู้ก่อนว่าจะขายสินค้าให้ใคร วิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ลูกค้าก่อนว่าเป็นอย่างไร อาจจะลองสอบถามจากร้านใกล้เคียงว่าขายดีหรือไม่ ช่วงเวลาใดที่คนส่วนใหญ่เดินผ่านเยอะที่สุด เพื่อพิจารณาถึงจำนวนลูกค้า กำลังซื้อ เพื่อที่จะได้หาวิธีการดึงดูดความสนใจของคนที่เดินผ่านไปมา

2.ทำเลต้องสะดวก เดินทางง่าย ไม่ซับซ้อน

คนค้าขายที่มีประสบการณ์จะรู้ดีว่า ร้านค้าจะมียอดขายมากนั้นที่ตั้งจะต้องอยู่ใจกลางเมือง หรือมีระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่าค่าเช่าที่แพงมาก ขอแนะนำว่าในช่วงแรกของการทำธุรกิจที่ยังไม่สามารถการันตีได้ว่ายอดขายจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น การเลือก ทำเลสําหรับร้านขนาดเล็กอาจยังไม่จำเป็นที่จะต้องทุ่มค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับค่าเช่าพื้นที่ ควรพิจารณาจากประเภทธุรกิจเป็นหลัก ที่สำคัญคือต้องมีที่จอดรถเพียงพอ หรือหากนำรถไปจอดละแวกใกล้เคียงระยะทางในการเดินต้องไม่ห่างจากร้านมากนัก หรืออาจเลือกพื้นที่ให้เช่าอย่างตลาดนัด ศูนย์การค้าที่สามารถรองรับจำนวนที่จอดรถได้

3.พื้นที่ร้านต้องสอดคล้องกับการใช้งาน

ต้องมีการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยอย่างคุ้มค่า ต้องมีพื้นที่สำหรับลูกค้าที่รอคิว มีพื้นที่พอเพียงสำหรับกระบวนการผลิต หากคิดว่าทำเลนั้นเหมาะ สำหรับการจำหน่ายสินค้า แต่มีพื้นที่เล็กเกินกว่าจะทำสิ่งปลูกสร้างหรือไม่สามารถทำได้ เช่น พื้นที่กลางแจ้งบริเวณหน้าศูนย์การค้า ภายในฟูดส์คอร์ท ร้านค้ารูป แบบคีออสเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งมีรูปแบบที่ไม่ตายตัว สามารถเลือกใช้วัสดุได้ตามความเหมาะสม

4. บริเวณทำเลที่ตั้งไม่ควรมีคู่แข่งมากเกินไป

แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่ร้านของเราจะตั้งอยู่เพียงร้านเดียวตรงทำเลนั้น แต่การที่มีร้านค้าที่จำหน่าย สินค้าประเภทเดียวกันกับธุรกิจของเราเป็นจำนวนมากเกินไปอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก ยิ่งถ้าทำเลนั้นมีร้านดั้งเดิมหรือร้านเด็ดร้านดังประจำย่านแล้วละก็ โอกาสจะขายสินค้าไม่ได้เลยมีสูงมาก หรือถ้าไปเจอร้านคู่แข่งใช้วิธีขายตัดราคาย่อมต้องเกิดปัญหาการแย่งลูกค้าตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ และการที่จะไปลดราคาขาย เพื่อต่อสู้กันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี ซ้ำร้ายการต่อสู้เช่นนี้มักลงเอยด้วยการเจ็บตัวด้วยกันทั้งหมด ทางที่ดีควรตัดใจแล้วหาทำเลใหม่จะดีกว่า

5. สภาพแวดล้อมโดยรอบต้องดี

ต้องเป็นสภาพแวดล้อมที่สะอาด มีความปลอดภัย ห่างไกลจากสภาพแวดล้อมอันไม่พึงประสงค์ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น ทำธุรกิจจำหน่ายอาหาร แต่บริเวณนั้นเต็มไปด้วยฝุ่น ควัน ไม่ว่าจะมาจากการก่อสร้างหรือโรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียง รวมถึงแนวโน้มในอนาคตว่าบริเวณดังกล่าวกำลังจะมีโครงการ ก่อสร้างอะไรหรือไม่ เช่น โครงการรถไฟฟ้า ขยายถนน อย่างแรกเลยคือ จะกระทบในเรื่องของการเดินทาง บางครั้งอาจมีการปิดเส้นหรือการก่อสร้างบดบังหน้า ร้านทำให้จำนวนลูกค้าลดลง ซึ่งส่งผลต่อยอดขายในระยะยาวได้ บางกิจการถึงขนาดที่ว่าต้องปิดตัวอย่างกะทันหันโดยที่กำลังขายดี เริ่มเป็นที่รู้จักของลูกค้า หรือ อาจจะเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่นานเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก จึงควรทำการเช็คล่วงหน้าก่อนตัดสินใจเลือกทำเลว่าพื้นที่นี้มีโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงใน อนาคตหรือไม่

การเลือกทำเลสำหรับร้านขนาดเล็กมีข้อได้เปรียบตรงที่มีรูปแบบทำเลที่หลากหลาย เช่น พื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า ตลาดนัด อาคารต่างๆ หรือแม้แต่ก่อสร้างขึ้นมา เอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามควรสรรหาสถานที่ที่เหมาะแก่การขายสินค้าที่ตรงกับกลุ่มลูกค้า ทำเลที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงสุด และ ถ้าคุณมีพื้นที่แต่ยังไม่มีร้านค้าสามารถแนะนำพื้นที่ทำเลกับเราได้ ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเช่าสถานที่ ค่าขนส่ง และค่าแรงพนักงาน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพ สินค้าและบริการที่ส่งมอบให้ลูกค้านั่นเอง