โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

มาดู! 8 สาเหตุที่ทำให้เจ้าของร้านค้าขนาดเล็ก “ตกม้าตาย” ไม่ว่าทำอะไรก็ล้มเหลว

คำถามที่เรามักจะพบเจอกันบ่อยในส่วนของ ร้านค้าปลีกขนาดเล็กก็คือ ทำไมล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จ คำตอบก็คือ เพราะการทำธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หรือใครทำแล้วใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคนไป เพราะขึ้นอยู่กับเจ้าของร้านว่าได้มีการวางแผนการบริหารระบบภายในร้านไว้อย่างไร ซึ่ง ชี้ช่องรวย ได้รวบรวมเอาสาเหตุมาบอกกล่าว เพื่อที่คุณจะได้นำไปปรับปรุงพัฒนาร้านต่อไป ดังนี้

1.แผนธุรกิจยังดีไม่พอ

คำถามแรก คือ คุณมีระบบแผนธุรกิจ หรือแผนที่คุณวางไว้ดีพอหรือไม่ เพราะแผนธุรกิจที่ดีจะช่วยให้ร้านค้าปลีกของคุณโดดเด่นกว่าคู่แข่ง เช่น หากคุณเป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้า ก็ต้องคิดดูว่าจะทำอย่างไรให้แตกต่างจากร้านอื่น เสื้อผ้าที่จะขายต้องเป็นแนวไหน ต้องมีบริการรูปแบบใด ตกแต่งร้านอย่างไรให้ตรงใจกลุ่มลูกค้ามากที่สุด เป็นต้น

2.ไม่เข้าใจพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าหลัก

รู้ไหมว่า 91% ของกลุ่มลูกค้าอายุ 18-34 ปีเชื่อรีวิวออนไลน์ไม่แพ้คำแนะนำจากคนรู้จัก เจ้าของร้านค้าปลีกหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าลูกค้ามักโพสต์ในโลกโซเชียลอย่าง Facebook, LINE, Instagram และ Twitter เมื่อพวกเขาไม่พอใจในสินค้าและบริการ หรือบางคนก็อาจจะเขียนรีวิวเชิงลบซึ่งจะส่งผลเสียต่อร้านคุณได้ ดังนั้น วิธีป้องกัน คือ ขายสินค้าคุณภาพและให้บริการที่ดีที่สุด จะได้รักษาชื่อเสียงของร้านพร้อมเพิ่มความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าของคุณ และอย่าลืมตอบรีวิวลูกค้าหรือคอมเม้นต์ตามโซเชียลด้วย ลูกค้าจะได้รู้ว่าคุณมีตัวตนในโลกออนไลน์และพร้อมน้อมรับคำติชมเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข แล้วพวกเขาก็จะสัมผัสได้ว่าร้านของคุณจริงใจและใส่ใจลูกค้าทุกคน

3.ระบบจัดการสต๊อกสินค้าไม่มีคุณภาพ

การจัดการสต๊อกสินค้าหรือสินค้าคงคลังมักเป็นปัญหาหลักของเจ้าของธุรกิจหลายคน เพราะเมื่อคุณไม่รู้จำนวนสต๊อกสินค้าที่แน่นอน ก็ทำให้จัดการสินค้าได้ไม่ดีพอ บางครั้งอาจมีสินค้าไม่พอขาย หรือบางครั้งก็อาจเผลอสั่งสินค้าเยอะเกินจนล้นโกดัง ดังนั้น ทางออก คือ อาจใช้โปรแกรมนี้มีฟีเจอร์บริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้คุณติดตามและได้รับแจ้งเตือนเมื่อสต๊อกเหลือน้อย คุณจึงไม่หมดเงินไปกับการสั่งซื้อสินค้าเกินจำนวน หรือพลาดโอกาสในการขายเพราะสินค้าขายดีหมดเมื่อลูกค้าต้องการ

4.ไม่มีการเติบโตที่ยั่งยืน

จงคิดเสมอว่า การเติบโตช้าๆ อย่างสม่ำเสมอจะนำไปสู่ความยั่งยืน เพราะหากขยายร้านเร็วเกินไป ก็อาจจะทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้นมาแทนได้ หรือหากคุณทำอะไรเกินตัวก็จะทำให้คุณเหนื่อยและหมดไฟเปล่าๆ ดังนั้น อย่าลืมวางแผนการขยายธุรกิจและจัดการเรื่องการเงินให้ละเอียดก่อนเริ่มเปิดร้าน หรืออาจจะลองพูดคุยกับที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจของคุณเพื่อหาทางออก

5.ขายสินค้าไม่ได้

ปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อหวังพึ่งลูกค้าเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ถ้าขายเครื่องเขียนหน้าโรงเรียน หรือขายเสื้อผ้าในมหาวิทยาลัย ร้านของคุณก็จะเงียบเหงาทุกครั้งที่ปิดเทอม เพราะฉะนั้นคุณจึงต้องปรับตัวและวางแผนการขายล่วงหน้า นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลลูกค้าที่มีและใช้ข้อมูลนั้นทำการตลาดเพื่อเรียกลูกค้าเหล่านั้นกลับมาซื้อของที่ร้านของคุณ

6.จัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง

อย่าคิดว่าตัวเองคนเดียวสามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ ลองหาผู้ช่วยมาแบ่งเบาภาระ โดยจ้างพนักงานมาช่วยสักคน คุณจะได้มีเวลาไปคิดแผนการบริหารธุรกิจให้ร้านของคุณเติบโตต่อไปได้

7.ไม่สันทัดงานด้านบัญชี

เจ้าของร้านบางคนคิดแค่ว่ามีสินค้าคุณภาพดีขาย ลูกค้าแฮปปี้กับสินค้า พร้อมกลยุทธ์การตลาดที่ดีและเงินทุนมหาศาลก็ทำให้ประสบความสำเร็จได้แล้ว แต่อย่าลืมว่าคุณต้องรู้วิธีทำบัญชีด้วย เพราะจะทำให้คุณรับรู้รายได้และรายจ่ายเพื่อจะได้นำมาปรับปรุงพัฒนาต่อยอดขยายร้านได้

8.ไม่ปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกปัจจุบัน

อีกหนึ่งข้อที่ทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กต้องปิดตัวลง คือ การไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับลูกค้าในยุคดิจิทัล ลองปรับและพัฒนาเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ดู ก็น่าสนใจไม่น้อย จะได้เพิ่มโอกาสขายให้กับร้านมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันนับว่ากระแสโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งเจ้าของร้านอย่างคุณก็จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้องตามข่าวตามกระแสโลกตลอดเวลาด้วยเช่นกัน อย่าลืมว่าการพัฒนารูปลักษณ์ร้านค้าให้ดูทันสมัย นอกจากจะช่วยเรียกลูกค้ายุคใหม่แล้ว คุณยังสามารถแตกไลน์ต่อยอดพัฒนาร้านของคุณไปได้อีกมากตามโอกาสและความสะดวก ที่สำคัญ ต้องขยัน และลงมือทำ จึงจะสำเร็จนะคะ