โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สู้ภัยแล้ง ด้วย “ถั่วลิสง” หลังนา สู่ “ถั่วคั่วทรายหนองโน” จ.อุดรธานี

จากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปีนี้ ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้หาวิธีช่วยเหลือ โดยการให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรทนแล้ง และให้ผลตอบแทนดี และ “ถั่วลิสง” เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติทนแล้งได้ดี

นางอัญชนา ตราโชรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ถั่วลิสงเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรตามนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทดแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

โดยถั่วลิสงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ ซึ่งต้นถั่วและเปลือกยังช่วยปรับสภาพดินทำให้ดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ถั่วลิสงยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งผลสดและแปรรูป โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสงที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อ

สำหรับแหล่งเพาะปลูกถั่วลิสงในภาตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกถั่วลิสง โดยในฤดูการผลิตปี 2562/63 (ถั่วหลังนา) มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้งหมด 435 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกทั้งหมด 887 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอกุดจับซึ่งมีพื้นที่ 736 ไร่ หรือร้อยละ 83 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 289 กก./ไร่

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) ติดตามสถานการณ์การผลิตถั่วลิสงของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองโน บ้านหนองโน หมู่ 2 บ้านหนองโน ต.กุดจับ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี โดยสัมภาษณ์ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองโน (นางสมพร เจริญวัย) พบว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 45 รายโดยเกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งปี (ฤดูฝนและฤดูแล้ง) ประมาณ 388 ไร่ ให้ผลผลิต 102 ตัน/ปี ต้นทุนการผลิต 5,943บาท/ไร่เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ไทนาน 9ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีกลิ่นหอม รสชาติมัน เมล็ดเล็ก เหมาะสมสำหรับการทำถั่วคั่วระยะเวลาเก็บเกี่ยวถั่วลิสงช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน และถั่วลิสงช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ผลผลิตเฉลี่ย 262 กก./ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 3,227 บาท/ไร่ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่30-35 บาท/กก.

ด้าน นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสศท.3 กล่าวเสริมถึงสถานการณ์ด้านตลาดว่า ปัจจุบันทางกลุ่มเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากสมาชิกเกษตรกรและนำมาแปรรูปเป็นถั่วคั่วทรายโดยคัดถั่วที่มีคุณภาพ ส่วนถั่วที่ตกเกรดหรือขนาดเล็กจะมีพ่อค้ามารับซื้อนำไปแปรรูปขายภายในหมู่บ้าน และส่วนที่คัดเสีย เช่น ถั่วดำเศษเปลือกที่เสียหายทางกลุ่มนำมาขายเป็นปุ๋ยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ถั่วลิสงที่นำมาแปรรูปเป็นถั่วคั่วทรายราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 117 บาท/กก.ทำให้กลุ่มได้ผลตอบแทนจากการสร้างมูลค่าเพิ่ม 61บาท/กก.นอกจากถั่วคั่วทรายซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายแล้ว ทางกลุ่มยังแปรรูปเป็นถั่วกระจก ถั่วทอดสมุนไพร และถั่วเคลือบโดยจำหน่ายผ่านหน้าร้านของกลุ่ม และร้านค้าต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานี เช่นTop marketsLemon Farmร้านฮาวมัชในสนามบินอุดรธานี เป็นต้น และผ่านทางออนไลน์ facebookกลุ่มแม่บ้านถั่วลิสงคั่วทรายบ้านหนองโน รวมถึงมีการออกร้านตามงานต่างๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ ถั่วลิสงนับเป็นพืชทางเลือกของ จ.อุดรธานี ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพืชที่มีอายุสั้นปลูกได้ตลอดปี และใช้น้ำน้อย ซึ่งในช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำไม่เพียงพอกับการเพาะปลูกข้าว ทำให้เกษตรกรปลูกถั่วลิสงในช่วงฤดูแล้งได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ และตลาดมีความต้องการต่อเนื่องซึ่งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองโนถือเป็นต้นแบบของวิสาหกิจชุมชนจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อพัฒนาผลผลิต สร้างรายได้ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มมีแนวโน้มจะขยายพื้นที่ปลูกถั่วลิสงสำหรับนำมาแปรรูปเป็นถั่วคั่วทราย และเพื่อรองรับความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลทางกลุ่มยินดีให้เข้ามาศึกษาดูงานได้ หรือขอคำปรึกษาได้ที่ นางสมพร เจริญวัย ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองโน หมู่ที่ 2 บ้านหนองโน ต.กุดจับ อ.กุดจับจ.อุดรธานีโทร. 0833398556