สศก. หนุนเกษตรกรสร้างรายได้รับมือภัยแล้งและสู้ภัยโควิด ด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์และปลูกหญ้าเนเปียร์สร้างรายได้เสริม
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ที่มั่นคง โดยสนับสนุนการเลี้ยงปศุสัตว์ ควบคู่กับการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และจำหน่ายมีรายได้เพิ่มขึ้นช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้หลักการ “การตลาดนำการผลิต” เพื่อพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิ โคเนื้อขุน กระบือเนื้อ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 – 30 พ.ย. 65
จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) พบว่า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งผลิตปศุสัตว์ลำดับที่ 5 ของภาคกลาง (ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี) ปัจจุบันมีการเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 140,469 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยง 6,405 ราย ในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าไซ ศรีประจันต์ และสามชุก ส่วนการเลี้ยงแพะมีจำนวน 24,649 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยง 895 ราย ในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าไซ สองพี่น้อง และด่านช้าง จึงมีความต้องการอาหารสัตว์ในปริมาณมาก อีกทั้งตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการโคเนื้อจำนวนมาก นอกจากจะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคแล้วยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ซึ่งเป็นพืชมีคุณค่าทางอาหาร ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เป็นการเพิ่มรายได้และลดต้นทุนในการเลี้ยงโคขุนควบคู่กันไป อีกทั้งกรมปศุสัตว์ได้เข้ามาสนับสนุนด้านองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้มีแหล่งความพร้อมด้านอาหารสำหรับปศุสัตว์อีกด้วย
ด้าน นายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเสริมว่า สำหรับการเลี้ยงโคขุน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 41,835 บาท/ตัว เกษตรกรจะนำโคที่มีน้ำหนักประมาณ 290 กิโลกรัม มาเลี้ยงเป็นเวลา 110 วัน เมื่อได้น้ำหนักประมาณ 486 กิโลกรัม จะจับขายในราคา 43,133 บาท/ตัว ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 2,432 บาท/ตัว โดยส่งขายให้กับพ่อค้าเพื่อรวบรวมส่งออกไปยังประเทศเวียดนามและจีน การเลี้ยงแพะขุน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,512 บาท/ตัว เกษตรกรจะนำแพะที่มีน้ำหนักประมาณ 14-16 กิโลกรัม นำมาขุนเป็นเวลา 90 วัน เมื่อได้น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม จะจับขายในราคา 3,995 บาท/ตัว ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 483 บาท/ตัว โดยส่งขายให้กับพ่อค้ารวบรวมส่งไปยังประเทศเวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนการปลูกหญ้าเนเปียร์พันธุ์ปากช่อง 1 เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และจำหน่าย มีพื้นที่ปลูกจำนวน 2,185 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอหนองหญ้าไซ และดอนเจดีย์ เกษตรกรผู้ปลูก 338 ราย มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 20,763 บาท/ไร่/ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย 6 รอบ/ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 43,326 กิโลกรัม/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 1.20 บาท/กิโลกรัม ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 31,228 บาท/ไร่/ปี โดยส่งขายให้กบฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง
ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจรายละเอียดการผลิตและการตลาดด้านปศุสัตว์ในจังหวัดสุพรรณบุรี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร. 0 5640 5007-8 หรืออีเมล [email protected]