โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

“สสว.” เคาะตั้งกองทุน 5 หมื่นล้าน "ดอกเบี้ยต่ำ" 1% ผ่อนนาน 10 ปี

ตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้สั่งการให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารที่ 7 ก.ค.นี้ เพื่อขออนุมัติงบประมาณ จำนวน 50,000 ล้านบาทจากงบเยียวยา เพื่อตั้งกองทุนของ สสว. ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ คาดว่า เงินก้อนแรกจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ประมาณ 500,000 ราย และรัฐบาลมีความตั้งใจว่า นอกจากวงเงิน 50,000 ล้านบาทก้อนแรกแล้ว ยังจะช่วยเหลืออีก 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 100,000 ล้านบาท

ล่าสุด สสว. อยู่ระหว่างจัดทำโครงการเติมพลัง ฟื้นชีวิต ต่อทุนเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงินเบื้องต้น 50,000 ล้านบาท โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือ 765,000 ราย ซึ่งจะต้องเร่งทำโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในสัปดาห์หน้า

ปัจจุบัน ไทยมีเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ หรือแหล่งเงินทุน รวมประมาณ 24% หรือประมาณ 7 แสนรายตามข้อมูลของ สสว. โดยมาตรการแรกที่จะช่วยภายใต้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะช่วยได้ประมาณ 5 แสนราย โดยอาจจะได้ต่ำกว่าข้อมูลพื้นฐานของ สสว. ได้แก่

1.เงินอุดหนุนให้กับบุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่จดทะเบียนพาณิชย์ หรือยังไม่จดทะเบียนพาณิชย์ก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ จะต้องมีสถานประกอบการที่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการดำเนินธุรกิจมาแล้วในระยะเวลาหนึ่ง โดยจะเป็นการ “เติมพลังฟื้นชีวิต” วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท โดยจะมีทีมงานที่เข้าไปพิสูจน์ธุรกิจของเอสเอ็มอี (KYC) ซึ่งจะมาจากธนาคารของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน ,ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ “ธพว.” (SME D Bank) เป็นต้น

2.การเพิ่มทุนให้กับธุรกิจที่มีโอกาสและมีศักยภาพ โดย สสว.จะเข้าไปร่วมทุนในกิจการของเอสเอ็มอี หรือที่เรียกว่าเป็นการเพิ่มทุน

3.วงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยวงเงิน 1 แสนบาทต่อราย และ 1 ล้านบาทต่อรายจะเป็นการปล่อยกู้แบบผ่อนปรนที่มีกฎระเบียบ มีกติกาที่แตกต่างจากธนาคารปกติ โดยดอกเบี้ยเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระประมาณ 10 ปี

สำหรับผู้ประอบการที่จะเข้าร่วม จะต้องร่วมเข้าอบรมหรือพัฒนาทักษะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ได้รับเงินกู้ไป ซึ่งอาจจะ 1 ครั้งต่อปี โดยจะทำให้ได้เอสเอ็มอีที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อรับเงินสินเชื่อเท่านั้น แต่จะต้องมีการพัฒนาทักษะในการทำธุรกิจด้วย ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้น และจะต้องรายงานตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ นอกจากนี้เอสเอ็มอีจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย้างใดอย่างหนึ่งของภาครัฐหรือเอกชน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งไม่รวมการเป็นสมาชิกของ สสว. ที่เอสเอ็มอีจะต้องเป็นตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่ระบบ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะออกมาอีกครั้งภายหลังผ่านการอนุมัติจาก ครม. ซึ่งคาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ได้ภายในสัปดาห์หน้า