ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ รุกโอกาสทอง หนุนไทยเป็นมหาอำนาจจิ้งหรีดโลก มอบหมายทุกหน่วยบูรณาการ ยกระดับฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐาน สร้างรายได้สู่มือเกษตรกรไทย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในฐานะครัวโลก ด้าน สศก. สนองนโยบาย เดินหน้าศักยภาพการผลิต ตามนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด พร้อมนำศาสตร์พระราชา ดึง Big Data ขับเคลื่อนในยุค New Normal
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ร่วมเสวนาในการประชุมวิชาการ “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอาคต : อนาคตของอีสาน” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 จิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ กรมปศุสัตว์ ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ โดยได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้น ตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลก หันมาบริโภคกัน เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อีกทั้งมีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น และสามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งจิ้งหรีดสด ทอด แช่แข็ง คั่วกรอบ หรือ บรรจุกระป๋อง
กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายขยายพื้นที่ในการผลิตจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้ “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (GRP) เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน เกษตรกรมีการรวมตัวเป็นกลุ่มแปลงใหญ่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด นิยมสายพันธุ์ทองคำ ทองแดง และสะดิ้งแหล่งสำคัญที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม บุรีรัมย์ และมหาสารคาม ซึ่งในปี 2561 มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศกว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตกว่า 700 ตัน/ปี รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท/ปี เกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 41 บาท/กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยง 45 -50 วัน/รุ่น (1 ปี ได้ 6 รุ่น) ราคาขายเฉลี่ย 80 บาท/กิโลกรัม สร้างรายได้สุทธิ (กำไร) 163,464 บาท/ปี
การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด สศก. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจิ้งหรีด ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้ร่วมกับการทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และ Young Smart Farmer ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแมลงเศรษฐกิจครบวงจร ทั้งนี้ การเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น ทำได้ง่ายแถมยังเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเกษตรกรสามารถเก็บไว้บริโภคเองได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ และสู่การส่งออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยในฐานะครัวของโลกอีกด้วย
“สศก. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร เรามีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 22 หน่วยงาน และกระทรวงภายนอกเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เชื่อมโยงข้อมูลด้านการผลิต การตลาด เพื่อการบริหารจัดการ โดยใช้ตลาดนำการผลิต หรือ demand driven โดยเฉพาะตลาด Premium และตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market ดังนั้น จึงมีความพร้อมที่จะให้บริการ ให้ข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งการปลูกพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์และแมลงเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อมูลการผลิตและการตลาดเพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในยุค New Normal ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย