เกี่ยวกับกระแสที่ผู้คนหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ด้วยการหันมารับประทานผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ทำให้เกษตรกรทั้งรายเก่าและหน้าใหม่ เริ่มหันมาจับทำเป็นธุรกิจสร้างรายได้ รับกับกระแสการตลาดที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดความนิยมลงเลย
จากผลการศึกษาโซ่อุปทาน “ผักสลัดอินทรีย์” ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าการปลูกผักสลัดอินทรีย์จะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะเพิ่มมูลค่านำมาซึ่งรายได้ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มธุรกิจอาหารออร์แกนิกได้ นับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางการผลิตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันผู้บริโภคได้ใส่ใจเรื่องสุขภาพและให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่และจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มสัดส่วนตลาดเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ
สศก. ได้ศึกษาโซ่อุปทานผักสลัดอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการปลูก ผักสลัดอินทรีย์ ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand มากที่สุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตผักสลัดอินทรีย์ให้กับเกษตรกร โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานต้นน้ำ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนการผลิต เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการผลิต และเกษตรกร เกี่ยวกับการวางแผนการผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต และการผลิต กลางน้ำ ซึ่งเป็นการจัดการผลผลิต ผู้ที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานกลางน้ำ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารตกค้าง โรงคัด บรรจุ ตกแต่ง และผู้รวบรวม และปลายน้ำ เป็นการกระจายผลผลิต ผู้ที่เกี่ยวข้องในโซ่อุปทานปลายน้ำ ได้แก่ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า บริษัท และผู้บริโภค
หากพิจารณาถึงต้นทุนและผลตอบแทนการผลิต วิถีการตลาด ส่วนเหลื่อมการตลาด พบว่า เกษตรกรที่ปลูกผักสลัดอินทรีย์ อาทิ ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว สลัดคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ใน 1 รอบการผลิต ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่เพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 50 วันเท่านั้น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 9,501 บาท/ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 842 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 52.41 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทน 44,112 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 34,611 บาท/ไร่ ส่วนวิถีตลาดผักสลัดอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรจะส่งผลผลิตขายให้ศูนย์/สถานีโครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย อำเภอเชียงดาว สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์รวบรวมผลผลิตมูลนิธิโครงการหลวงแม่เหี๊ยะในการกระจายสินค้า ส่วนในจังหวัดนครราชสีมา ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งขายให้กับสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในอำเภอวังน้ำเขียว ได้แก่ สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว จํากัด วิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอวังน้ำเขียว และอีกส่วนหนึ่งขายหน้าแปลง
สำหรับส่วนเหลื่อมการตลาด หรือความแตกต่างระหว่างราคาที่ผู้บริโภคจ่ายหรือราคาขายปลีก กับราคาที่ผู้ผลิตหรือเกษตรกรได้รับ กรณีศูนย์/สถานีโครงการหลวง สหกรณ์ฯ วิสาหกิจชุมชนฯ ขายให้กับผู้รวบรวม มีส่วนเหลื่อม 25 บาท/กิโลกรัม และผู้รวบรวมขายให้กับร้านค้าห้างสรรพสินค้า บริษัทในจังหวัด และกรุงเทพมหานคร มีส่วนเหลื่อม 20 บาท/กิโลกรัม ส่วนร้านค้าห้างสรรพสินค้า บริษัทในจังหวัด และกรุงเทพฯ ขายให้กับผู้บริโภค มีส่วนเหลื่อม 53 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากผักสลัดเน่าเสียและเสียหายง่าย ทำให้ส่วนเหลื่อมค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการผลิตผักสลัดอินทรีย์มีการบริหารจัดการที่ดี มีตลาดที่แน่นอน ให้ผลตอบแทนสูง และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี ดังนั้น ผักสลัดอินทรีย์จึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่ง ที่ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยการผลิต ด้านเงินทุนเพื่อใช้พัฒนาเทคโนโลยีในการปรับปรุงขบวนการผลิต เช่น โรงเรือน ห้องเย็น และห้องตรวจสอบสารพิษตกค้าง และควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนเมล็ดพันธ์การผลิตให้กับเกษตรกร สำหรับผู้ที่สนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจเทคโนโลยีและปัจจัยทางการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร 02 579 8615