เมื่อการเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่ใช่วิถีหลักของคนยุคใหม่อีกต่อไป หลายคนจึงมุ่งไปที่การเป็นเจ้าของธุรกิจ ธุรกิจแฟรนไชส์จึงเป็นตัวเลือกในการไล่ล่าความฝันที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ ลงทุนน้อย มีรูปแบบระบบการทำธุรกิจกึ่งสำเร็จรูปไว้รองรับ ทำให้ไม่ต้องเริ่มต้นจากการนับหนึ่ง
ข้อมูลจากธนาคารกสิกรไทย พบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราประสบความสำเร็จได้ดีกว่าธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วไป เนื่องจากมีการออกแบบระบบต่างๆ ไว้เป็นอย่างดีแล้ว ทั้งตัวสินค้า การตลาด การสร้างแบรนด์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับหนึ่ง จึงเหมาะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของผู้สนใจประกอบธุรกิจ
ฉะนั้นแล้ว ความแตกต่างระหว่างการ “เปิดร้านเอง” กับการ “ซื้อแฟรนไชส์” แบบไหนมีข้อได้เปรียบมากกว่ากัน ชี้ช่องรวย ได้แยกออกเป็นข้อๆ ดังนี้
กรณีเปิดร้านเอง
ข้อดี : -มีอิสระในการบริหารจัดการ
-ไม่ต้องลงทุนสูง
-ได้ความภูมิใจในการสร้างแบรนด์เอง
ข้อเสีย : -เริ่มต้นเองทั้งหมด
-ใช้เวลานานกว่าแบรนด์จะเป็นที่รู้จัก
-เสียเปรียบผู้ที่เข้าตลาดมาก่อน
กรณีซื้อแฟรนไชส์
ข้อดี :
-เริ่มต้นธุรกิจง่าย
-ไม่ต้องลองผิดลองถูก
-โอกาสอยู่รอดสูง
-เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่าย
ข้อเสีย : -ไม่มีอิสระในการบริหารจัดการ
-เสียค่าแฟรนไชส์ หรือ ค่าธรรมเนียม
-เสี่ยงต่อการเสียชื่อจากสาขาอื่น
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ยอดนิยมที่มีกลุ่มมนุษย์เงินเดือนให้ความสนใจ เพื่อตอบโจทย์ในยุคนี้ ได้แก่
1.กลุ่มอาหาร
โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารบริการด่วน ซึ่งเติมโตตามพฤติกรรมผู้บริโภคยุค 4.0 ที่ชอบสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือที่ทำงาน เป็นต้น
2.กลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีม
เช่น กลุ่มร้านกาแฟสด ร้านชานมไข่มุก ร้านไอศกรีม ร้านขายนมสด ร้านขายน้ำปั่น ไอศกรีมเกล็ดหิมะ ร้านเครื่องดื่มสุขภาพ
3.กลุ่มการศึกษา
กลุ่มนี้จะเติบโตตามความต้องการของผู้ปกครองสนับสนุนให้บุตรหลานเรียนเสริมทักษะด้านต่างๆ ได้แก่ สถาบันกวดวิชา สอนภาษาอังกฤษ สอนศิลปะ พัฒนาศักยภาพเด็ก สอนดนตรี เป็นต้น
4.กลุ่มเบเกอรี่
ยังได้รับความนิยมแต่ไม่หวือหวา ทั้งร้านขายขนม ขนมอบกรอบ เครปญี่ปุ่น และร้านเบเกอรี่
5.กลุ่มบริการ
เช่น ธุรกิจไปรษณีย์ บริการเติมเงิน มือถือออนไลน์ รับชำระค่าสินค้าและบริการ ศูนย์ดูแลรักษารถยนต์ครบวงจร ดาร์แคร์ จำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ท่องเที่ยวครบวงจร บริการซัก อบ รีด ฯลฯ
ขั้นตอนสู่การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์
1.ความสนใจ
ถามตัวเองว่าสนใจอะไร เพื่อหาธุรกิจที่เหมาะสมกับตัวเอง
2.ทำเลต้องดี
ศึกษาพื้นที่บริเวณนั้นว่ามีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กำลังซื้อ เหมาะสมกับธุรกิจของคุณหรือไม่
3.วิเคราะห์และเปรียบเทียบ
ข้อมูลรายละเอียดการลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ และรูปแบบการแบ่งผลตอบแทน กระบวนการบริหารจัดการ ศึกษาสัญญาแฟรนไชส์ให้ละเอียด เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ
4.ต้องรู้ว่าแฟรนไชส์คัดเลือกผู้ลงทุนอย่างไร
แฟรนไชซอร์จะพิจารณาศักยภาพผู้ร่วมลงทุนตามความตั้งใจ และความใส่ใจในการทำธุรกิจเป็นหลัก
5.แหล่งเงินลงทุน
กรณีที่ต้องการเงินลงทุนเพิ่มเติม ควรปรึกษาธนาคารพาณิชย์ที่เข้าใจและเชี่ยวชาญ
6.เตรียมพร้อมก่อนเปิดกิจการ
เข้ารับการฝึกอบรมการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ตามมาตรฐานต่างๆ ที่แต่ละแฟรนไชส์กำหนดไว้