การเริ่มต้นเป็น พ่อค้า แม่ค้า อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่มีประสบการณ์แต่หลายคนอยากจะลองผันตัวมาทำอาชีพค้าขายดูบ้างแต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน วันนี้ ชี้ช่องรวย มีเคล็ดไม่ลับ การเริ่มต้นขายของตลาดนัด มาให้กับใครก็ตามที่กำลังมีความคิดว่าอยากจะขายของตามตลาดนัดมานำเสนอ มาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1.เราจะขายอะไร
สินค้าของเราว่าเหมาะสมกับตลาดที่ตรงไหน กลุ่มลูกค้าอย่างไร ขายในตลาดช่วงไหนดี ตลาดเช้า ตลาดกลางวัน ตลาดออฟฟิศ ตลาดเย็น หรือตลาดกลางคืน บางสินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในทุกช่วงเวลา ฉะนั้นการเลือกสินค้ามาขายให้สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ทุกกลุ่มถือเป็นข้อได้เปรียบ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น
2.ขายราคาเท่าไหร่
ราคาที่เหมาะสมต่อสถานที่หนึ่งแต่อาจไม่เหมาะสมกับในสถานที่หนึ่ง อย่างเช่น เราขายเสื้อผ้าแฟชั่น สไตล์วัยรุ่น ถ้าเราขายในตลาดเช้า ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เข้ามาเดินตลาดเช้าจะเป็นแม่บ้านพ่อบ้านเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าจะไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร สิ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย คือ ราคา เราควรตั้งราคาในราคาที่ต่ำกว่าปกติ เป็นการดึงดูดลูกค้า แต่ถ้าเรานำเสื้อผ้าแฟชั่นวัยรุ่นขายในตลาดกลางคืน สามารถถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าเรื่องราคาก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่
3.ทำเลเลือกแบบไหน
รูปแบบของตลาดนัดมีหลากหลาย ตั้งแต่ตลาดนัดออฟฟิศ ตลาดนัดช่วงเช้า ตลาดนัดช่วงเย็น มีทั้งแบบขายได้ทุกวัน ขายเฉพาะบางวัน ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลา สิ่งที่ต้องทำก่อนตัดสินใจเลือกทำเลที่จะขายควรทำดังนี้
เดินสำรวจตลาดโดยรอบดูว่าโซนไหนของตลาดและช่วงเวลาไหนมีคนเดินเยอะมากที่สุด เช็คสภาพพื้นที่โดยรอบว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ลักษณะไหน เช่น แหล่งชุ่มชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน เป็นต้น รวมไปถึงการสัญจรต่างๆที่จะมาถึงตลาดนั้นๆว่าเป็นอย่างไร สอบถามพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอยู่ก่อนแล้วว่าสินค้าขายได้มากน้อยแค่ไหน
และสิ่งสำคัญ กฎระเบียบ ค่าเช่าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นอย่างไรมีพื้นที่ตายตัวหรือต้องปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยหรือไม่ อุปกรณืที่เราจะต้องเตรียมมีอะไรบ้างให้เหมาะสมกับพื้นนั้นๆ
4.สำรวจคู่แข่งหรือสินค้าประเภทเดียวกัน
ถ้าสินค้าของเราไม่ได้มีความแตกต่างจากคู่แข่งคนอื่นๆเท่าไหร่ ทำอย่างไรที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ สิ่งแรกคือการสร้าง story ของสินค้า เช่น เราขายกางเกงยีนส์ร้านอื่นก็มี อาจไม่เหมือนกันในทีเดียว แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าไม่เหมือนกันลูกค้ามองว่ามันก็เหมือนๆกันหมด ฉะนั้นเราสร้าง story ให้สินค้าเรา เช่น บอกว่ากางเกงยีนส์ของเรามาจากโรงงานโดยตรงราคาถูก
บางครั้งเราอาจจะมีต้นทุนเท่ากับร้านอื่น แต่ถ้าสร้าง story ขึ้นมา เพื่อสร้างยอดขายไปเน้นที่ปริมาณ กำไรต่อชิ้นอาจน้อยกว่าคู่แข่ง แต่ถ้าเราสามารถทำให้ลูกค้าเชื่อได้ ว่าสินค้าเราถูกกว่าจริง เชื่อได้เลยว่า ยอดขายเพิ่มมากขึ้นแน่นอน
5.รูปแบบร้านต้องโดดเด่นกว่าร้านอื่น
รูปแบบร้านเป็นส่วนที่ช่วยดึงดูดลูกค้า ควรตกแต่งร้านให้เข้ากับสินค้าและกลุ่มลูกค้า สร้างบรรยากาศให้สวยงามน่าเข้ามาเลือกชม เช่น โทนสี รูปแบบตัวอักษร ป้ายหน้าร้านต้องเด่น สีของหลอดไฟ ความสว่างภายในร้าน อุปกรณ์ประดับตกแต่งต่างๆ และควรติดป้ายราคาให้ชัดเจน ส่วนร้านขายอาหารที่ทำตามออเดอร์ ควรมีรูปในแต่ละเมนูหรือสินค้าตัวอย่างวางโชว์ เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพได้ชัดเจน รวมถึงการตั้งชื่อร้านก็เป็นอีกสิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ทำให้ลูกค้าจดจำได้
6.เงินทุนสำรอง เงินทุนหมุนเวียน
นอกจากเงินลงทุนในการซื้ออุปกรณ์ วัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนอื่น ๆ นั้น เราควรมีเงินทุนสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมรวมถึงเงินหมุนสำหรับซื้อของเพิ่มในแต่ละครั้งด้วย เนื่องจากในช่วงแรกของการขายไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร บางช่วงอาจจะขายดี บางช่วงอาจจะซบเซา จึงต้องมีเงินทุนสำรองมากพอสมควร ถ้าหากมีลูกจ้างก็ต้องมีเงินจ่ายค่าแรงให้ ถึงแม้ว่ายอดขายในช่วงนั้นไม่ค่อยดีก็ตาม ยิ่งในช่วงหน้าฝน ตลาดนัดบางแห่งแทบจะไม่มีลูกค้า จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวตรงจุดนี้ ซึ่งทำให้การค้าขายไม่เกิดการสะดุดกะทันหัน
7.ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า
แน่นอนว่าเราขายของย่อมอยากได้เงินจากลูกค้า การใส่ใจในคุณภาพของสินค้าจะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ นอกจากนี้การใส่ใจให้บริการตอบคำถามด้วยการยิ้มแย้มก็จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเป็นมิตรและอยากที่จะซื้อสินค้าร้านเราถึงแม่จะราคาสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันของร้านอื่นก็ตาม
8.เตรียมแผนสำรองเอาไว้
การค้าขาย นอกจากการเตรียมตัววางแผนที่รัดกุมแล้ว ในบางครั้งไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น สิ่งที่คิดไว้ในตอนแรก อาจไม่เป็นไปตามคาด ควรมีการเตรียมพร้อม ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขาย ไม่ยึดติดกับสินค้าที่ขาย ควรให้เวลาสักพัก หากเล็งเห็นแล้วว่าไม่สามารถจำหน่ายต่อไปได้ อาจเปลี่ยนเป็นสินค้าชนิดอื่นแทน หรือหาตลาดใหม่ที่เหมาะกับสินค้าที่จำหน่ายอยู่