การขายของออนไลน์ นอกจากการใส่ใจลูกค้า สินค้าคุณภาพ การตั้งราคาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านค้านั้น ๆ อยู่รอดได้ วันนี้ ชี้ช่องรวย มีเทคนิคการตั้งราคาสินค้ามานำเสนอให้ลองไปปรับใช้กันดู อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าต้นทุนการขายสินค้าออนไลน์ ไม่ได้มีแค่ค่าตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่คุณต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็น ค่าจัดส่ง, ค่าแพ็กสินค้า และค่าโฆษณา ดังนั้นคุณต้องคำนวณให้ดีว่าต้นทุนของสินค้ามีราคาอยู่ที่เท่าไรกันแน่ มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
1.ตั้งราคาตาม Positioning (จุดขาย) ของสินค้า
ก่อนตั้งราคาสินค้า SME ต้องรู้จักสินค้าของตัวเองก่อน ว่าสินค้ามีต้นทุนต่อหน่วยเท่าไร รวมไปถึงต้องรู้ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทไหน เป็นสินค้าสำหรับคนทั่วไปที่ซื้อง่ายขายคล่อง หรือเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนคนซื้อที่จำกัด ซึ่งคุณสมบัติของสินค้าที่แตกต่างกันก็จะมีวิธีในการบวกกำไรในจำนวนที่มากน้อยไม่เท่ากัน จำเป็นต้องประเมินจากต้นทุน, คุณสมบัติของสินค้า และความต้องการของผู้บริโภค จึงจะช่วยให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมของสินค้าขึ้นมาได้
2.ตั้งราคาจากการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
ไม่ว่าคุณจะขายสินค้าอะไรก็ตามมักจะมีคู่แข่งอยู่เสมอ การศึกษาคู่แข่งว่ามีจุดอ่อนจุดแข็ง และมีจำนวนมากน้อยขนาดไหน จะเป็นข้อมูลสำหรับการนำเอากลับมาตั้งราคาสินค้าของคุณเอง ถ้าสินค้าแบบเดียวกันกับของคุณมีคู่แข่งเยอะ ราคาสินค้าของคุณก็ควรจะเกาะกลุ่มไม่ให้ต่างกันมาก แต่ถ้าหากสินค้าของคุณไม่มีคู่แข่งเลย การตั้งราคาสินค้าก็อาจจะตั้งได้สูงในระดับที่คุณพอใจได้เลย
ดังนั้นก่อนจะตั้งราคาทุกครั้งควรสำรวจตลาดเพื่อเช็กราคาสินค้า ว่าส่วนใหญ่ขายกันราคาเท่าไร แล้วนำมาคำนวณต้นทุนของเราว่าจะบวกกำไรได้มากน้อยแค่ไหน ถึงจะเข้าไปแข่งขันในตลาดได้ ยกตัวอย่างหากลองไปสำรวจราคาสินค้าบางชนิด แล้วพบว่าสินค้าประเภทนี้ส่วนใหญ่ตั้งราคาบวกกำไรเอาไว้ในระดับ 90-120% ก็จะทำให้คุณทราบได้ว่าสินค้าของคุณควรจะตั้งราคาอยู่ที่ระดับไหน เพื่อให้มีกำไรและแข่งขันกับรายอื่น ๆ ได้
3.อย่าเริ่มต้นด้วยราคาที่ต่ำจนเกินไป
จริงอยู่ที่การตั้งราคาสินค้าต่ำอาจจะทำให้ขายสินค้าได้ง่าย แต่มันไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป เพราะหลายครั้งที่มันทำให้ลูกค้าคิดหรือมองสินค้าของคุณไปในด้านลบ หรือทำให้ไม่มั่นใจในตัวสินค้า ทั้ง ๆ ที่คุณเองก็พยายามขายสินค้าคุณภาพดีในราคาถูกแล้วก็ตาม ส่วนข้อเสียของการตั้งราคาต่ำตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ มันจะทำให้คุณไม่มีช่องว่างเหลือพอที่จะถอยหลัง ในกรณีที่เปิดตัวด้วยราคาถูกแล้วยังขายไม่ได้ จะลดราคาลงอีกก็เข้าเนื้อ อย่าลืมเผื่อช่องว่างเอาไว้ให้ลดราคาบ้าง
4.จัดราคาโปรโมชั่นเพื่อค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สําหรับการทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์สินค้าดีราคาถูกในช่วงโปรโมชั่น เพื่อค้นหาความต้องการสินค้าของผู้บริโภค ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป เพราะมันอาจจะทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่า ราคาจริง ๆ ของสินค้าก็คือราคาโปรโมชั่น ดังนั้นการทำโปรโมชั่นควรจะระบุระยะเวลาที่ชัดเจน และไม่ใช้บ่อยจนเกินไป และการทำโปรโมชั่นก็ไม่ควรจะลดราคาสินค้ามากเกินไปจนหากำไรไม่ได้ ส่วนจะลดได้มากน้อยขนาดไหนก็อยู่ที่การตั้งราคาเริ่มต้นอย่างที่แนะนำกันไปแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : krungsri