โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

มาดู 3 เทคนิค เปลี่ยนอสังหาฯ เป็น “แฟรนไชส์” กำไรดี

วันนี้ ชี้ช่องรวย มีบทความที่ได้แรงบันดาลใจจากผู้มีประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับการลงทุนที่เปลี่ยนจากอสังหาฯ ให้กลายมาเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งมีความน่าสนใจ ดังนี้

เขาเริ่มต้นด้วยการลงทุนซื้อขายใบจองคอนโดฯ เพื่อเก็งกำไรและพัฒนาจนเป็นการชื้อคอนโดฯ มาเพื่อปล่อยเช่า ล่าสุดก็เริ่มมาซื้ออาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยเช่า โดยค่าเช่าที่ได้นั้นสามารถนำไปเป็นค่าผ่อนเงินกู้ซื้ออาคารพาณิชย์ต่อเดือนได้เลยทีเดียว จนกระทั่งปีที่แล้วผู้เช่าไม่ต่อสัญญาและหาผู้เช่ามาเช่าต่อไม่ได้ ทำให้มีภาระเพิ่มที่จะต้องหาเงินมาผ่อนเงินกู้ซื้ออาคารพาณิชย์ ผ่านไป 1 ปี ก็ยังหาคนมาเช่าต่อไม่ได้สักที จึงรู้สึกว่าน่าจะทำอะไรกับอาคารพาณิชย์หลังนี้

สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจลงทุนเพิ่มเพื่อซื้อแฟรนไชส์ร้านกาแฟยี่ห้อหนึ่งมาเปิดที่อาคารพาณิชย์แห่งนี้ ผลที่ได้รับกลับดีเกินคาด ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นไปด้วยดี มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในการทำธุรกิจ แถมยังมีกำไรที่สามารถนำมาจ่ายค่ากู้ซื้ออาคารพาณิชย์นี้ได้อย่างสบาย และยังมีเงินเหลือเก็บอีกด้วย กับ 3 เทคนิค เปลี่ยนอสังหาฯ เป็นแฟรนไชส์ ดังนี้

1.เช็กทำเล

โดยปกติแล้วการทำธุรกิจแฟรนไชส์จะเริ่มต้นจากการเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบก่อน แต่คราวนี้อาจต้องปรับมุมมองใหม่ โดยเริ่มจากอสังหาฯ ที่เรามีก่อนว่า เรามีอสังหาฯ อะไรอยู่ในมือ

โดยทั่วไปอสังหาฯ ที่เหมาะกับการทำแฟรนไชส์ ได้แก่ อาคารพาณิชย์ ที่ดินเปล่า และบ้าน (สำหรับบางกลุ่มธุรกิจ เช่น สถาบันสอนพิเศษ) ดังนั้น หากเราตั้งต้นจากของที่เรามี หน้าที่แรกของเราคือ ลองดูว่าอสังหาฯ ที่เรามีนั้นจะต่อยอดไปเป็นแฟรนไชส์อะไรได้บ้าง

ตัวอย่างเช่น เรามีอาคารพาณิชย์ติดถนนใหญ่ แฟรนไชส์ที่สามารถทำได้ก็น่าจะเป็น ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านเบเกอรี่ หรือสถาบันสอนพิเศษ
จากนั้นเราก็ค่อยมาเลือกว่าเราอยากทำธุรกิจอะไร โดยข้อดีของการทำแฟรนไชส์คือ เราจะมีคนที่ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจอยู่แล้ว ก็คือเจ้าของแฟรนไชส์ “Franchisor” ที่จะคอยช่วยเหลือ ช่วยดูทำเลที่เรามีให้ว่าเหมาะสมที่จะทำแฟรนไชส์นั้นหรือไม่ ถ้า “Franchisor” ไม่เห็นด้วยก็เตรียมพับโครงการเลย ไม่ต้องเสียเวลา แต่ถ้า “Franchisor” เห็นด้วยก็เตรียมตัวสำหรับขั้นตอนต่อไปได้ สำหรับคนที่เข้าไปซื้อแฟรนไชส์นั้นจะเรียกว่า “Franchisee”

2.ทุ่มเทศึกษา

หลังจากมีทำเลและแฟรนไชส์ที่อยากจะเปิดแล้ว เราต้องศึกษาข้อมูลกับแฟรนไชส์ที่เราเลือกทำอย่างละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น โดยปกติจะมี 3 ค่าใช้จ่ายหลักด้วยกันคือ

-ค่าแรกเข้า (Franchise Fee)

ซึ่งแต่ละแฟรนไชส์เก็บไม่เหมือนกัน บางแฟรนไชส์เก็บครั้งแรกเพียงครั้งเดียว บาง แฟรนไชส์ทำเป็นสัญญา โดยจะเก็บทุกครั้งที่หมดสัญญา แต่จะเก็บจำนวนเงินเท่าไหร่ และจะได้รับอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับ “Franchisor” เป็นผู้กำหนด ซึ่งปกติจะเก็บมากขึ้นตามขนาดของแฟรนไชส์ด้วย

-ค่าความภักดี (Royalty Fee)

ซึ่งโดยปกติจะเรียกเก็บรายเดือน โดยคิดค่าใช้จ่ายประมาณ 3-6% ของยอดขายต่อเดือน ดังนั้น ไม่ต้องกลัวว่า “Franchisor” จะทอดทิ้ง เพราะยอดขายของ “Franchisee” มีผลกับรายได้ของ “Franchisor” ด้วย ซึ่งทาง “Franchisor” มีระบบการตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เสียชื่อแฟรนไชส์แน่นอน

-ค่าทำตลาด (Marketing Fee)

คือ ค่าการโฆษณาหรือการพัฒนาการตลาดใหม่ตลอดเวลานั่นเอง เช่น การคิดเมนูใหม่ๆ การมีโปรโมชันใหม่ๆ เป็นต้น โดยคิดค่าใช้จ่ายประมาณ 3-6% ของยอดขายต่อเดือนเช่นเดียวกัน

จากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาจทำให้หลายท่านสงสัยว่าแล้วมันจะคุ้มจริงหรือ ต้องบอกเลยว่าทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างธุรกิจแฟรนไชส์เอง ถึงจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมาย แต่ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ คุณมีคนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแล้วมาช่วยคุณ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบหลักที่มักถูกกว่าการไปหาซื้อเอง เนื่องจากทาง Franchisor มีปริมาณการซื้อขนาดใหญ่ที่สามารถต่อรองราคาได้ดีกว่า หรือจะเป็นเรื่องแฟรนไชส์ที่ติดตลาด เป็นที่รู้จักแล้ว เปิดร้านมาน่าจะมีลูกค้าเข้าร้าน เป็นต้น ดังนั้น ต้องศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ละเอียด และเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียให้ดีก่อนตัดสินใจ เพราะคุณเป็นคนที่ต้องอยู่กับธุรกิจแฟรนไชส์นี้ไปตลอด

3.หาแหล่งเงินทุน

เรื่องสุดท้ายที่คุณต้องเตรียมนั้น คือ เงินทุน ซึ่งแบ่งเป็นเงินทุนระยะยาว และเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียนที่ควรมีอย่างน้อย 2-3 เท่าของยอดขายในการดำเนินธุรกิจต่อเดือน ใครที่มีเงินสดเพียงพอก็ยินดีด้วย ส่วนใครที่ต้องกู้สินเชื่อธุรกิจก็ต้องศึกษาข้อมูลและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้รอบคอบด้วย ซึ่งโดยปกติเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อจะมี

1. สภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ

2. คุณภาพผู้บริหาร

3. รายละเอียดสินเชื่อที่ขอ

4. ลักษณะความสัมพันธ์

ซึ่งแต่ละคุณสมบัติขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละธนาคาร โดยเราสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของธนาคารได้ว่า แฟรนไชส์ไหนที่ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้บ้าง ถ้าเป็นแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมกับธนาคารอยู่แล้วก็จะสะดวกในการขอสินเชื่อมากขึ้น
หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า ถ้ามีหนี้กู้ซื้ออสังหาฯ อยู่แล้วจะสามารถกู้สินเชื่อเพื่อธุรกิจได้หรือไม่ คำตอบคือมีโอกาสกู้ได้ถ้าเรามีความสามารถในการชำระหนี้เพียงพอ

ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาด้วยว่าธุรกิจที่เราจะทำนั้นมีศักยภาพหรือไม่ ดังนั้น หากคุณเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมกับทางธนาคารอยู่แล้ว โอกาสที่คุณจะกู้สินเชื่อเพื่อธุรกิจผ่านนั้นมีมากเลยทีเดียว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : K-Expert