นี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาดที่สร้างสีสันให้กับธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ยุคนี้ไม่ใช่น้อย ด้วยตัวสินค้ามีคุณภาพ ทั้งยังมีให้เลือกหลากหลาย ที่สำคัญคือจำหน่ายในราคาหลักสิบทั้งร้าน จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของมหาชนที่ชื่นชอบของดี ราคาถูกโดยเฉพาะในยุคที่สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ทุกครัวเรือนต่างพากันรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่าย และจะเลือกจับจ่ายเฉพาะข้าวของที่จำเป็นเท่านั้น
หลายธุรกิจอาจจะได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่กับธุรกิจร้านค้าราคาเดียว เพราะสินค้าที่ผู้บริโภคทุกคนต้องการ มีจำหน่ายอยู่ในร้านค้าราคาเดียวทั้งหมดแล้ว จึงเป็นเหตุให้ ‘ธุรกิจร้านค้าราคาเดียว’ เป็นที่จับจ้องของผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจชวนลงทุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ซื้อง่าย ขายคล่อง สินค้าทั้งร้านพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินล้านให้กับผู้ลงทุนทุกคนในบัดดล
ทำความรู้จักร้านค้าราคาเดียว ร้านค้าราคาเดียวคืออะไร? มีความแตกต่างจากร้านค้าปลีกทั่วไปอย่างไร?
ร้านค้าราคาเดียว มีจุดเด่นอยู่ตรงที่การกำหนดราคาขายแบบ ‘ทั้งร้านราคาเดียว’ (One Price) โดยหากเดินเข้ามาในร้านที่มีการขึ้นป้ายว่า ‘ทุกอย่าง 10 บาท’ นั่นหมายความว่าสินค้าที่วางขายอย่างหลากหลายภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียน เครื่องครัว อุปกรณ์ทำความสะอาด เครื่องมือช่าง กิ๊ฟช็อป ฯลฯ ทุกชิ้นขายในราคา 10 บาททั้งสิ้น!
ถึงแม้จะจำหน่ายในราคาถูก เงินเพียง 10 บาท ก็ซื้อหาอะไรได้แล้ว แต่สินค้าเหล่านี้ก็ไม่ใช่ข้าวของเครื่องใช้กะโหลกกะลา ทุกชิ้นล้วนผ่านการคัดสรรทั้งดีไซน์และคุณภาพมาเป็นอย่างดี โดยนำมาจำหน่ายในราคาที่ลูกค้าควักเงินจ่ายได้สบาย และใครๆ ก็สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องคิดมาก ขณะที่สินค้าบางชิ้นก็ดู ‘แพง’ กว่าราคาที่ต้องจับจ่ายเสียด้วยซ้ำ ร้านค้าประเภทนี้ ‘แบรนด์’ จึงไม่มีความสำคัญต่อลูกค้ามากเท่าไรนัก เพราะ ‘ราคา’ ก็คือแบรนด์ของร้าน ขอเพียงมีสินค้าที่ลูกค้าต้องการ แล้วขายในราคาตามที่ขึ้นป้ายกำกับไว้ ก็ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาอุดหนุนข้าวของภายในร้านอย่างต่อเนื่องได้แล้ว
การเป็นร้านค้าที่จำหน่ายของดีราคาถูก ทำให้นักลงทุนวิ่งเข้าใส่ธุรกิจนี้โดยไม่ลังเล เพราะซื้อ-ขายคล่องตัว สินค้าเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กน้อย วัยเรียน วัยทำงาน วัยกลางคน ไปจนวัยชรา ทุกคนสามารถเป็นลูกค้าของร้านค้าราคาเดียวได้ทั้งหมด อาศัยการขายได้ในปริมาณมากๆ กำไรเฉลี่ย 25-30% ก็ลอยมาให้เอื้อมคว้าตรงหน้าง่ายๆ
ในขณะที่ร้านค้าปลีกโดยทั่วไป จะมีจุดเด่นตรงที่สินค้ามีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของคุณภาพและระดับราคาสินค้า กำไรที่ผู้ขายจะได้รับขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาขาย ซึ่งผู้ขายอาจกำหนดขึ้นเอง หรือขายตามราคาท้องตลาด โดยก่อนที่ลูกค้าจะพิจารณาซื้อสินค้าสักชิ้น มักจะเปรียบเทียบความคุ้มค่า คุ้มราคาจนกว่าจะพอใจ หากราคายังแพงในสายตาลูกค้า และยังไม่รีบเร่งใช้งานนัก ก็มักจะสอบถามราคาก่อนเพื่อรอเปรียบเทียบกับร้านที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน
‘แบรนด์’ ถือว่ามีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และยอดขายของร้าน หากเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ารู้จัก ยอมรับได้ในคุณภาพ โอกาสที่ลูกค้าจะควักเงินออกมาจับจ่ายย่อมมีมากกว่า แต่ท้ายที่สุด การส่งเสริมการขายประเภทใช้กลยุทธ์ด้านราคามาลด แลกแจก แถม จะช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านได้ดี เพียงแต่ผู้ขายต้องยอมรับในกำรี้กำไรที่ลดน้อยลง นอกจากนี้ ความหลากหลายของราคาสินค้า อาจทำให้ผู้ขายสับสนจนบอกราคาผิด หรือคิดราคาผิด ความเสียหายก็ย่อมจะบังเกิดขึ้นกับทั้งร้านค้าและลูกค้าผู้บริโภค
ความน่าลงทุนในธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสินค้าเบ็ดเตล็ดหลายรายที่ทำธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จ จึงคิดหันมาสร้างรายได้จากร้านค้าราคาเดียว ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ตัดสินใจลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ที่มีแบรนด์ร้านค้าเป็นจุดขาย อีกทั้งระบบการบริหารร้านต่างๆ ก็ถูกเซ็ตไว้ให้พร้อมสรรพ แต่ผู้ลงทุนก็สามารถตั้งต้นธุรกิจได้ง่าย โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปเสาะแสวงหาสินค้าดี ราคาถูกด้วยตัวเองถึงต่างประเทศ เพราะปัจจุบันมีผู้ค้าส่งสินค้าในตลาดจำนวนมาก ที่พร้อมจะสนับสนุนผู้ลงทุนให้สามารถตั้งต้นธุรกิจได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่ช่วยเจรจาหาทำเลที่เหมาะสม สอนเคล็ดลับการจัดหน้าร้านไปจนถึงกระบวนการบริหารร้านต่างๆ แม้กระทั่งการซื้อสินค้าก็ง่ายดายเพียงแค่สั่งผ่านแคตาล็อกออนไลน์ จากนั้นสินค้าก็จะจัดส่งให้ผู้ลงทุนพร้อมนำไปตั้งตัว
ในขณะที่การเปิดร้านก็ยิ่งทำได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเตรียมการอะไรมาก เพียงแค่ตื่นเช้ามาเปิดไฟ เปิดแอร์หรือพัดลม ปัดกวาดทำความสะอาดร้าน จัดสินค้าให้เข้าที่เข้าทางในหมวดหมู่ที่กำหนดไว้ จากนั้นก็เตรียมตัวเปิดร้าน รอต้อนรับลูกค้าได้ทันที การตั้งราคาเดียวนี้ยังทำให้การบริหารจัดการร้านไม่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องจดจำราคาสินค้า เวลาคิดเงินก็แทบไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลข เนื่องจากสามารถบวกคูณได้โดยง่าย ถึงเวลาปิดร้านก็แค่ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และปิดล็อกร้าน ก็เป็นอันจบการทำงานของวันนั้นๆ
เมื่อลองเปรียบเทียบธุรกิจร้านค้าราคาเดียวกับธุรกิจอื่นๆ อย่างการเปิดร้านอาหาร พบว่าผู้ประกอบการจะต้องลุกขึ้นมาซื้อของสดตั้งแต่เช้าตรู่ หากขายไม่หมดก็ต้องรู้จักจัดเก็บวัตถุดิบ เพื่อจะได้ไม่เน่าเสียก่อนเวลาอันควร และถึงแม้จะถนอมวัตถุดิบได้ดีเพียงใด สุดท้ายก็ต้องสูญเสียความสดใหม่ไปไม่น้อย ผิดกับสินค้าราคาเดียวที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่เน่า ไม่เสีย ขายไม่ออกวันนี้ ก็รอเปิดร้านขายวันใหม่ได้ เท่ากับปิดประตูความเสี่ยงไปได้เลย ทั้งยังสร้างรายได้ก้อนงาม โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเหนื่อยแรงนัก
ทำไมต้องร้านค้าราคาเดียว ทั้งนี้ หากพิจารณาสรุปโดยภาพรวมแล้วจะพบว่าธุรกิจร้านค้าราคาเดียวมีข้อดีอยู่หลายประการ อาทิ
- ลูกค้าได้รับความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้า โดยไม่ต้องกังวลว่าสินค้ามีราคาเท่าไร เพราะรู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างราคาเดียว ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกหยิบสินค้าใส่ตะกร้าได้อย่างสบายใจ และมั่นใจที่จะซื้อสินค้ามากขึ้น
- สร้างจุดขายให้กับร้าน และเพิ่มความแปลกใหม่ให้ลูกค้า ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘ราคาเดียว’ ทำให้เกิดการแนะนำปากต่อปาก โดยไม่ต้องเสียงบประมาณในการโฆษณาร้านแต่อย่างใด
- ร้านค้าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้ เช่น ไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานมากมายไว้คอยแนะนำสินค้า ไม่จำเป็นต้องติดป้ายราคา การบริหารจัดการร้านก็ไม่ซับซ้อน มิหนำซ้ำยังลดขั้นตอนการทำงานของพนักงานลงได้ การคิดเงินก็สามารถทำได้เร็ว ความผิดพลาดก็น้อย
ในขณะที่ลูกค้าที่หลงใหลได้ปลื้มกับร้านค้าราคาเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ชอบอะไรง่ายๆ ไม่ต้องกลัวว่าสินค้าจะเกินงบประมาณในกระเป๋า เพราะทราบดีอยู่แล้วว่าสินค้าราคาชิ้นละเท่าไร โดยไม่จำเป็นต้องไถ่ถามพนักงาน ส่วนสินค้าในร้านค้าก็เป็นข้าวของทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มิได้มีความซับซ้อนอะไร จึงง่ายต่อทั้งคนขายและคนซื้อ
ด้วยข้อดีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แล้วจะมิให้ธุรกิจร้านค้าราคาเดียว ‘เนื้อหอม’ ในสายตานักลงทุนได้อย่างไร