โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

การขายแฟรนไชส์ เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย: ณปภัช วรปัญญาสถิต จาก Am Tea

ด้วยปัจจุบันตลาดกลุ่มประเทศ CLMV ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่มีโอกาสมากของ SMEs ไทย ครั้งนี้ เราจึงขอพาไปเปิดมุมมองการรุกตลาดกัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มาแรงของ SMEs ไทย เพื่อเป็นไอเดียในการขยายตลาดให้ประสบความสำเร็จต่อไป

คุณณปภัช วรปัญญาสถิต เจ้าของแฟรนไชส์ชานมไข่มุก Am Tea แบรนด์ชานมที่สามารถครองใจผู้บริโภคชาวกัมพูชา ในยุคที่ธุรกิจแฟรนไชส์แข่งขันสูง จากจุดเริ่มต้นสังเกตเห็นว่าชาวกัมพูชามีรายได้ต่อเดือนโดยเฉลี่ยไม่สูงมากนัก แต่กลับยอมจ่ายเงินซื้อชานมแก้วละเกือบ 100 บาท จึงนำเอาสิ่งนี้มาต่อยอดไอเดีย เพื่อนำเสนอสินค้าที่คุ้มค่ามากขึ้น ให้กับผู้บริโภคชาวกัมพูชาที่ชื่นชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ช่วงที่เข้าไปขยายตลาด คุณณปภัชได้นำมาสเตอร์แฟรนไชส์แบรนด์หนึ่งเข้าไปบุกตลาดกัมพูชา ซึ่งได้ผลตอบรับดีเกินคาด แต่ด้วยกฎข้อบังคับต่างๆ เธอจึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ชานมไข่มุก Am Tea ที่มีความยืดหยุ่นในการลงทุนสูงขึ้นมาเอง และปรับราคาให้ถูกลง โดยราคาขายปลีกในกัมพูชาจะอยู่ที่แก้วละ 29 บาท เนื่องจากมีค่าขนส่ง ส่วนราคาขายปลีกในไทยจะเริ่มต้นแก้วละ 19 บาท พร้อมพัฒนารสชาติ งานบริการที่ดีขึ้น ปัจจุบันสร้างแบรนด์ของตัวเองมาได้กว่า 2 เดือนแล้ว กับสาขาทั้งหมด 5 สาขา แบ่งเป็นในกัมพูชา 3 สาขา และในไทย 2 สาขา

Facebook ของร้านในไทย : Am Tea Thailand 
Facebook ของร้านในกัมพูชา​ : Am Tea Cambodia 

 

แม้คาดหวังจะทำตลาดเฉพาะในประเทศกัมพูชาเท่านั้น เพราะธุรกิจชานมไข่มุกในประเทศไทยแข่งขันกันสูงมาก แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปขยายตลาดในกัมพูชาได้ จึงต้องหันกลับมามองตลาดไทยในพื้นที่จังหวัดที่ยังไม่มีการแข่งขันกันสูงนัก แต่ด้วยจุดแข็งของ Am Tea ก็มองว่าจะสามารถครองใจผู้บริโภคได้ในระยะยาว เพราะใช้ชา และวัตถุดิบที่เข้มข้น และมีเมนูแปลกใหม่ให้เลือกดื่มกว่า 44 เมนู ท้อปปิ้ง 9 อย่าง 

 

 

 

 

สำหรับราคาแฟรนไชส์ Am Tea จะเริ่มต้นที่ 39,900 บาท โดยจะได้รับอุปกรณ์ครบชุดพร้อมเปิดร้านได้ทันที ใช้เวลาคืนทุนโดยเฉลี่ย 3-5 เดือน ส่วนสิ่งที่ต้องสั่งกับทางแบรนด์เท่านั้น ได้แก่ แพ็คเกจจิ้ง ผงชา ไซรัปผลไม้ ไข่มุก ซึ่งทั้งหมดลูกค้าสามารถมั่นใจได้ในเรื่องราคาที่เป็นธรรม เนื่องจากแบรนด์ได้ทำการสำรวจราคาในท้องตลาดมาแล้ว หลังจากหักค่าวัตถุดิบและแพ็คเกจจิ้ง ผู้ขายจะได้กำไรต่อแก้วที่ 40-50%

‘เรานำเอาความผิดพลาด ในตอนที่เราเป็นแฟรนไชส์ซี กลับมาเรียนรู้ แล้วเราก็คิดว่าถ้าเราได้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์เอง เราก็จะไม่ทำสิ่งผิดพลาดแบบนั้น การเป็นแฟรนไชส์ซีคือเราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราไม่ได้อยากซื้อทุกอย่าง บางทีเราไปซื้อเองถูกกว่า เราจึงต้องทำข้อกำหนดให้แฟรนไชส์ซีมีกำไรด้วย เวลาเราตั้งราคาทุกอย่าง เราเลยสำรวจราคาในท้องตลาด เพราะถ้าเราทำราคาให้ถูกกว่าไม่ได้ เราก็จะบอกแฟรนไชส์ซีให้ไปซื้อเองที่ไหนบ้าง ที่เป็นมาตรฐานของเรา ซึ่งกระบวนการความคิดตรงนี้ เราคิดมาแล้ว ว่าจะทำยังไงให้เราอยู่ได้ และผู้ซื้อแฟรนไชส์เราก็ต้องอยู่ได้’

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้เราต้องรีบปรับตัวรุกออนไลน์เดลิเวอรี่มากขึ้น รวมไปถึงทำการตลาดออนไลน์ผ่านแพล็ตฟอร์มอื่นๆ เช่นการใช้ Influencer ที่มีชื่อเสียงในพื้นที่สาขานั้นๆ พร้อมเน้นการทำบรรยากาศร้านให้นั่งสบาย สามารถไปพักผ่อน หรือถ่ายรูปได้ แล้วในอนาคตก็มีแพลนในการเพิ่มเมนูความหลากหลายของเครื่องดื่มมากขึ้น ให้มีสีสันน่าสนใจไม่ซ้ำใครรสชาติอร่อยกับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังจะใส่ใจในกลุ่มลูกค้าที่มีความรักสุขภาพมากขึ้น โดยจะใช้สารแทนความหวานเข้ามาแทนน้ำเชื่อม เหมาะกับเทรนด์ในตลาดประเทศไทยขณะนี้มากๆ

 


นอกจากนี้เรายังต้องเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเองด้วย อย่างการเข้าไปเรียนในหลักสูตร Chain Store Management and Franchis System รุ่นที่ 1 ก็ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับแฟรนไชส์เราได้ โดยเฉพาะการนำเอาความรู้มาสร้างเป็น Operation Manual หรือ คู่มือธุรกิจ ของแบรนด์เราเอง เพื่อส่งต่อให้กับแฟรนไชส์ซีได้มีระบบการบริหารจัดการร้านให้เป็นไปในทิศทาง และมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งถือเป็นอีกบทเรียนที่ช่วยให้เราตกผลึกการทำธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมนำไปปรับปรุงพัฒนาให้สมบูรณ์แบบได้ไม่ยากเลยในอนาคต