โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

รู้หรือไม่ ? ธุรกิจเสื้อผ้า (แบรนด์ของตัวเอง) หัวใจสำคัญอยู่ที่การออกแบบ

การวางแผนการทำงาน การออกแบบเสื้อผ้าจะช่วยให้การทำงานเป็นไปตามขั้นตอนอย่างเหมาะสมและประหยัดเวลา ดังนั้นอาจถือว่าการออกแบบเสื้อผ้าคือการวางแผนการทำงานก็ได้

ในแง่ของการนำเสนอผลงาน การออกแบบเสื้อผ้าจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจตรงกันอย่างชัดเจน ดังนั้นความสำคัญในด้านนี้คือเป็นสื่อความหมายเพื่อความเข้าใจระหว่างกัน เป็นสิ่งที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับงาน งานบางประเภทอาจมีรายละเอียดมากมาย ซับซ้อน ผลงานออกแบบเสื้อผ้าจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้พบเห็นมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าผลงานออกแบบเสื้อผ้าคือตัวแทนความคิดของผู้ออกแบบเสื้อผ้าได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ข้อมูลจากด็อกเตอร์แพ็ทเทิร์นแอททีเลีย (Doctor Pattern Atelier) ซึ่งเป็นสถาบันสอนออกแบบแพ็ทเทิร์นเสื้อผ้าแฟชั่นสำเร็จรูปชั้นสูงเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม ได้อธิบายถึงวิธีการออกแบบสร้างแพ็ทเทิร์นเสื้อผ้าว่ามีอยู่ 2 วิธี คือ

  1. การออกแบบสร้างแพ็ทเทิร์นด้วยวิธีการจำลองผ้าบนหุ่น (Draping)
  2. การสร้างแพ็ทเทิร์นด้วยการออกแบบวาดโครงสร้างบนกระดาษ (Drafting)

การออกแบบสร้างแพ็ทเทิร์นสินค้าด้วยการเดรป (Draping) หรือจำลองผ้าบนหุ่นเสื้อทำเสื้อผ้า ( Dress Form) คือการใช้ศิลปะเทคนิคการจับผ้าบนหุ่นตามขนาดที่ต้องการ ซึ่งจะสามารถเห็นรูปแบบที่เราต้องการในรูปแบบ 3 มิติทันที เป็นวิธีที่ใช้ในการทำเสื้อชั้นสูง เพื่อโชว์ตัวเดียวหรือจำนวนไม่มาก และเป็นวิธีที่สถาบันสอนออกแบบแฟชั่นต่างๆ นิยมนำมาใช้เป็นวิธีการสอนให้แก่ดีไซเนอร์ในการสร้างสรรค์รูปแบบไอเดียต่างๆ

แต่ถ้าหากจะใช้ในการผลิตสินค้าในระบบอุตสาหกรรม ก็จะต้องทำการปรับปรุงรูปแบบชิ้นงานจากบนหุ่นมาเป็นชิ้นงานแบบ 2 มิติบนกระดาษอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดขนาดต่างๆ ใช้คำนวณวัตถุดิบ และทำกระบวนการต่างๆ ในระบบอุตสาหกรรม ดังนั้นการเดรปจึงเป็นที่นิยมสำหรับดีไซเนอร์เพื่อที่จะใช้ในการนำเสนอเป็นต้นแบบผลิตสินค้าหรือต้นแบบไอเดียที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเตรียมการก่อนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม

ส่วนการสร้างแพ็ทเทิร์นด้วยการดราฟ (drafting) หรือการออกแบบวาดโครงสร้างบนกระดาษ คือการออกแบบแพ็ทเทิร์นสินค้าด้วยการวัดกำหนดขนาด สร้างโครงสร้างและส่วนประกอบต่างๆ บนกระดาษซึ่งจะได้รูปแบบที่เป็น 2 มิติ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนขนาดและกำหนดรูปทรงและคัตติ้งต่างๆ ของตัวสินค้าโดยง่ายและแม่นยำเช่นกัน จึงเหมาะและเป็นที่นิยมในการทำเสื้อผ้าอุตสาหกรรม

การออกแบบเสื้อผ้าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการผลิต ที่บางครั้งผู้ประกอบการอาจไม่ใช่ผู้ออกแบบเองก็ได้ แต่กระนั้นก็ควรจะต้องมีความรู้ในการวิเคราะห์การออกแบบเสื้อผ้าว่าจะสามารถผลิตและขายได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้วการจำแนกลักษณะแนวคิดการออกแบบเสื้อผ้าได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน

  • ประเภทที่เน้นแนวคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก (Fashion design)

เป็นการออกแบบที่ส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อโชว์แนวคิด มีความเป็นเอกลักษณ์สูง แต่อาจไม่เหมาะสมกับการใช้สวมใส่เลย และมักพบว่าเป็นไปได้ยากในแง่ของการจัดทำเพื่อจำหน่าย อันเป็นผลมาจากตัวผู้ออกแบบที่ได้รับการสอนให้พยายามแสดงแนวคิดจากแรงบันดาลใจ แต่ขาดการทำความเข้าใจถึงหลักการชี้วัดสำคัญบางประการ

การออกแบบประเภทนี้เหมาะสมกับการทำเสื้อผ้าโชว์ เพื่อแสดงความสามารถในการสร้างสรรค์ของนักออกแบบ แต่ไม่เหมาะสมกับการจัดทำเป็นเสื้อผ้าเพื่อจำหน่าย (Ready Made Clothes) ซึ่งจะเห็นได้จากการโชว์ผลงานออกแบบของนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และตามงานประกวดการออกแบบ เป็นต้น

  • ประเภทที่เน้นแนวคิดการวิเคราะห์เพื่อการค้า (Ready Made Clothing Design)

เป็นหลักการออกแบบเสื้อผ้าเพื่อจำหน่าย ที่มีกระบวนการคิดตามหลักการจัดทำสินค้า โดยแบ่งประเด็นเป็น 3 หมวดใหญ่คือ

1.ความเป็นไปได้ด้านการขาย

หากนิยามของการออกแบบเสื้อผ้า คือ การสร้างสรรค์รูปแบบเสื้อผ้าแบบใหม่ซึ่งความแปลกใหม่ของรูปแบบเกิดขึ้นจากแนวคิดใดๆ ก็ได้ ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ในโลกของความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าเป็นการออกแบบเสื้อผ้าเพื่อทำขาย ผู้ออกแบบควรคำนึงถึง Fashion Trend และพิจารณารูปแบบเสื้อผ้าให้มากขึ้นว่า จะขายได้ไหม และใครจะซื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

2.ความเป็นไปได้ด้านการตัดเย็บและการผลิต

ขณะที่การออกแบบเสื้อผ้าเพื่อทำการโชว์นั้นจะตั้งต้นจากแนวคิด การออกแบบเพื่อทำขายก็จะตั้งต้นจากวัตถุดิบ อันเป็นเรื่องที่ผู้ออกแบบต้องเรียนรู้เป็นพื้นฐานก่อนเสมอ ว่าการออกแบบเสื้อผ้าของคุณจะใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง และมีเครื่องจักรที่จะรองรับหรือไม่ ประเด็นนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของช่างที่มีฝีมือทักษะเพียงพอที่จะตัดเย็บหรือไม่ ใช้เวลาในการผลิตมากน้อยแค่ไหน เหล่านี้ถ้าออกแบบมาแล้วผลิตหรือจัดทำไม่ได้ การออกแบบก็เปล่าประโยชน์

3.ความเป็นไปได้ด้านต้นทุน

ต้นทุนหลักของเสื้อผ้าก็คือ วัตถุดิบหรือผ้า ด้ายที่ใช้ในการเย็บ รวมไปถึงค่าแรงในการตัดเย็บ เป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบควรคำนวณให้ถี่ถ้วนเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนในการผลิตเสื้อผ้าแต่ละตัว เพราะถ้ามีต้นทุนสูงเกินไป ขายแล้วไม่ได้กำไร ก็เปล่าประโยชน์เช่นกัน

ด้วยหลักเกณฑ์และกระบวนการคิดเหล่านี้ ที่จะสรุปย่อๆ ก็คือ ‘ทุนได้ ผลิตได้ และขายได้’ นั้นเป็นวิธีคิดของนักออกแบบสินค้ามืออาชีพ ซึ่งมีประสบการณ์ผ่านการลองผิดลองถูก จนได้หลักแนวคิดที่มีแบบแผน และช่วยให้การออกแบบเสื้อผ้าได้ผลงานที่ผสมผสานแนวคิดสร้างสรรค์ และมีความทันสมัย เหมาะสมต่อการนำไปจัดทำเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือสามารถนำแบบที่ได้ไปจัดทำเป็นเสื้อผ้าเพื่อการค้าได้ทันที