บรรจุภัณฑ์จัดเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่ในปัจจุบันนักการตลาดนิยมใช้เป็นเครื่องมือในการรุก-รับทางการตลาด
บรรจุภัณฑ์มีความสำคัญมากขึ้นตามเทคโนโลยีและการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ กรอปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งที่อาจสรุปได้ดังนี้
1. ลูกค้านิยมเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น บรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นย่อมกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อมากขึ้น
2. กำลังซื้อและความพอใจของลูกค้ามีมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในระดับบนที่สามารถจ่ายมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในบรรจุภัณฑ์ที่โดนใจ เช่น นมข้นหวานตราหมีในหลอดชนิดบีบ
3. บรรจุภัณฑ์สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการตลาด ตามหลักการของการสื่อสารแบบ บูรณาการ (IMC-Integrated Marketing Communication) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี ยังสามารถช่วยในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ (Brand Image)
4. บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสังคมให้ความใส่ใจกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน และขยะ หรือสารพิษ ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยกระดาษ มากกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก
5. นวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ทำให้นักการตลาดสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไร และสร้างภาพพจน์ให้แบรนด์ เช่น น้ำตาลมิตรผลในซองกระดาษแบบหลอด หรือในขวดที่สะดวกแก่การใช้
6. บรรจุภัณฑ์สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกส่วนตลาด (Market Segment) โดยออกแบบให้เหมาะสมกับส่วนตลาดและลูกค้าเป้าหมาย เช่น ขวดน้ำหอมสำหรับผู้ชาย หรือสำหรับผู้หญิง แชมพูขนาดเล็ก พกพาสะดวกสำหรับนักเดินทาง หรือขนาดใหญ่สำหรับครอบครัว เป็นต้น