โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

5 แนวทางการบริหารเงิน และการวางแผนภาษี ที่ SME ต้องรู้ไว้

วันนี้ ชี้ช่องรวยมี เทคนิคดีๆ หรือสิ่งที่ SME ต้องรู้ กับ 5 แนวทางการบริหารเงิน และการวางแผนภาษี เพื่อเป็นแนวทางในการทำธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ

ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจและอยากจะหันมาเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากธุรกิจขนาดเล็กใชเงินลงทุนไม่มาก แต่ทั้งหมดนี้สิ่งที่ผู้ลงทุนน้าใหม่จำเป็นต้องรู้ไม่ใช่เพียงแต่วิธีทำธุรกิจ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยสำคัญที่ต้องรู้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการบริหารการเงิน และการวางแผนภาษี

1.รูปแบบการจดทะเบียนธุรกิจ มีผลต่องานบัญชีและอัตราภาษี

เมื่อเริ่มต้น รูปแบบการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจมีความสำคัญต่อการวางแผนภาษีในอนาคตเป็นอย่างมาก เพราะการจัดตั้งแบบ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล นั้นเจ้าของกิจการควรทำความเข้าใจให้ดี ด้วยว่าบริษัทแต่ละประเภทมีระบบการจัดเก็บภาษีที่เจ้าของธุรกิจจำเป็นจะต้องใช้ในการวางแผนภาษีให้กับบริษัทของตัวเอง

โดยการจดทะเบียนบริษัทแต่ละประเภทล้วนมีทั้งข้อดีข้อด้อย ซึ่งการจดทะเบียนแบบนิติบุคคลนั้นอาจมีข้อดีตรงที่ในระยะยาวจะมีอัตราภาษีคงที่มากกว่าแบบบุคคลธรรมดา แต่ขณะเดียวกันก็มีความยุ่งยากในเรื่องการจัดการบัญชี และการจัดทำเอกสารต่าง ๆ เพื่อแสดงต่อกรมสรรพากร

2.แยกบัญชี - เก็บใบเสร็จ - หาคนคอยดูแลบัญชี

นิติบุคคลส่วนใหญ่เลือกวิธีการที่สะดวกโดยการจ้างนักบัญชีหรือบริษัทดูแลบัญชีที่มีความละเอียด รอบคอบ เข้าใจกฎหมาย และมีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงมาช่วยดูแล ในขณะที่เจ้าของกิจการเองควรรู้ว่า

รายจ่ายส่วนบุคคลและรายจ่ายของบริษัทควรแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง และรายรับรายจ่ายต่าง ๆ ของธุรกิจควรเก็บใบเสร็จเอาไว้ให้ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงรายจ่ายต่าง ๆ ของธุรกิจซึ่งรายจ่ายบางประเภทสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้

3.ศึกษาเรื่องการเสียภาษีอย่างถูกต้องก่อนเริ่มการวางแผนภาษี

แม้จะมีอัตราการจัดเก็บที่ต่างกัน แต่ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามกำหนด ซึ่งจะมีภาษีอยู่ 5 ประเภทที่แวะเวียนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่เจ้าของกิจการควรต้องรู้จักและทำความเข้าใจ คือ

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ ภงด.50 และ ภงด.51 เป็นรายจ่ายที่นิติบุคคลทั้งหมดมีหน้าที่ต้องจ่าย
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า ซึ่งภาษีประเภทนี้ สามารถขอคืนได้ภายหลังผ่านการขอลดหย่อนตามเงื่อนไขต่าง ๆ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเจ้าของกิจการ หรือธุรกิจให้บริการประเภทต่าง ๆ
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีประเภทนี้มีการจัดเก็บเฉพาะบางธุรกิจที่กฎหมายกำหนดเอาไว้พิเศษ เช่น ธนาคาร หรือ อสังหาริมทรัพย์
  • อากรแสตมป์ เป็นเงินจำนวนไม่มากคล้ายกับค่าธรรมเนียม ที่เรียกเก็บในการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่สรรพากรระบุไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 4.0 นี้ยังมีบริการสั่งจ่ายภาษีทางอินเทอร์เน็ต (Krungsri E-tax) ง่ายๆ เพียงดำเนินการผ่านระบบ e-Revenue ของกรมสรรพากร และนำรหัสมาชำระผ่าน Krungsri CashLink ช่วยเพิ่มความสะดวกในการวางแผนภาษีมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนปัญหาน่าปวดหัวทั้งเรื่องการเดินทางและการบริหารเวลาให้กลายเป็นเรื่องง่ายในทันที

4.หาช่องทางการลดหย่อนภาษีที่เหมาะสมกับธุรกิจ

จากนโยบายของภาครัฐที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจ SMEs โดยให้สิทธิในการหักลดหย่อน ไม่ว่าจะมาจากค่าวิจัยและพัฒนา ค่าฝึกอบรมพนักงาน ค่าประกันภัยและค่าประกันชีวิตพนักงาน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้สามารถนำหลักฐานมาแสดงในการขอลดหย่อนภาษีได้ทั้งสิ้น หากเจ้าของกิจการทำการวางแผนภาษีอย่างครบถ้วน แน่นอนว่าผู้ประกอบการรายนั้นย่อมสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้อย่างคุ้มค่าอย่างแน่นอน

5.เหตุไม่คาดฝันและแนวทางแก้ไข

แน่นอนว่าการดำเนินธุรกิจ มักมีปัญหาทั้งเล็กใหญ่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่จำไว้ว่าหากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบบัญชีและการวางแผนภาษีขึ้นมาล่ะก็ คุณไม่ควรลังเลที่จะขอคำปรึกษาจากหน่วยงานรัฐอย่างกรมสรรพากรโดยตรง

เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขที่ถูกต้อง ตรงจุดที่สุด เพราะมีหลายครั้งที่ SMEs หรือ Start up หน้าใหม่ ตีความทางกฎหมายแบบผิดๆ จนส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้