สศช.เปิดตัวเลขอัตราการว่างงานไตรมาส 3 / 2563 ซึ่งยังคงมีปัจจัยเรื่องของ โควิด-19 พบว่า อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูง ยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก
ตามรายงานภาวะสังคม ของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90 ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.95 จากไตรมาสที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรง
"แรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น"
ถ้าไปดูอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบอีกว่า ผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.15 สูงสุดตั้งแต่ปี 2554 รองลงมาเป็นระดับ ปวช. และ ปวส. ร้อยละ 2.79 และ 2.73 ตามลำดับ
ขณะเดียวกันแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี และ 20-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นในไตรมาสนี้เช่นกันที่ร้อยละ 9.4 และ 7.9 ตามลำดับ ชี้ว่า แรงงานที่มีการศึกษาสูงและอายุน้อยเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
พบแรงงานนอกระบบถ้าตกงานจะหาอาชีพอื่นทดแทน
แต่ถ้ามาดู "แรงงานในระบบ" ที่อยู่ในสถานะว่างงาน จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่า ผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 4.88 แสนคน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนภาคบังคับที่ร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.5
"การว่างงานในระบบที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ขณะที่การว่างงานในภาพรวมค่อนข้างทรงตัว ชี้ให้เห็นว่า แรงงานในระบบเมื่อตกงานจะเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกระบบเพิ่มขึ้น เช่น ประกอบอาชีพอิสระ หรือทำเกษตรกรรม ซึ่งจะมีผลต่อผลิตภาพแรงงาน การว่างงานชั่วคราวปรับตัวลดลง"
ขณะที่ข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีสถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 จำนวน 1,387 แห่ง ครอบคลุมแรงงาน 3.3 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 7.9 แสนคน
ในส่วนของการจ้างงาน ไตรมาสสาม ปี 2563 เพิ่มขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 เป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมร้อยละ 1.8 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ลดต่ำลงมากจากผลกระทบการส่งออกที่หดตัวและมีการใช้กำลังการผลิตลดลง
ซึ่งสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แก่ สาขาก่อสร้าง การขายส่งและขายปลีก การขนส่ง/เก็บสินค้า ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 4.6 และ 3.3 ตามลำดับ แต่สาขาการผลิตยังคงหดตัวร้อยละ 1.4 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6
"นอกจากคำสั่งซื้อที่ลดลงแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับภาคเกษตรกรรมแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก" แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง ร้อยละ 0.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
แรงงานยังไม่กลับไปทำงานได้เต็มที่
ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าแรงงานจะยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้อย่างเต็มที่ สะท้อนออกมาจากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วจาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็น 41.6 ชั่วโมง/สัปดาห์
หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ลดลงร้อยละ 19.7 ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ของแรงงานที่อาจจะลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน
4 เรื่องต้องติดตามสถานการณ์แรงงานไทย
อย่างไรก็ตาม สศช. มองว่า ประเด็นที่ต้องติดตามด้านแรงงาน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด19 แม้จะมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาสที่สาม คือ
1. ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 หลังจากรัฐบาลเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ภายใต้ข้อกำหนดทางสาธารณสุข แม้มาตรการดังกล่าวจะมีข้อดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
2.การเข้าร่วมมาตรการจ้างงานของรัฐ ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการที่ส่งเสริมการจ้างงานกับกลุ่มผู้ตกงานและกลับต่างจังหวัด และกลุ่มเด็กจบใหม่ที่มีปัญหาการว่างงานสูงโดยเฉพาะโครงการให้เงินอุดหนุนกับผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานเด็กจบใหม่ มีสถานประกอบการแจ้งความจำนงใช้มาตรการนี้แล้ว 88,564 ตำแหน่ง แต่มีแรงงานลงทะเบียน 57,096 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงโครงการฯ 4,114 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563)
3.ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันมี 35 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
4.คุณภาพชีวิตของแรงงาน การว่างงานและการลดชั่วโมงการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรงงานได้รับรายได้ลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงคุณภาพชีวิต ของแรงงาน ความสามารถในการชำระหนี้ และปัญหาความยากจน
จากสถานการณ์และประเด็นข้างต้น การส่งเสริมให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น อาจช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และช่วยให้แรงงานปรับตัวได้มากขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบได้ เช่น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีเงินทุนและมีสถานที่ค้าขาย อย่างการสร้างตลาดนัด หรือ Street Food ในแต่ละพื้นที่และชุมชนเร่งรัดการดำเนินงานโครงการภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว จำนวน 202 โครงการ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน จ้างงาน และสร้างรายได้ ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานเป็นระยะเวลา 3-12 เดือน จำนวน 3.4 แสนตำแหน่ง และส่งเสริมการพัฒนาทักษะทั้งผู้จบการศึกษาใหม่เพื่อให้พร้อมที่จะทำงาน และผู้ที่เคยทำงานมาแล้วหรือมีงานทำให้มีทักษะเพิ่มขึ้นหรือมีทักษะใหม่ที่จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนงานได้
"กลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ยังไม่สามารถหางานได้ ควรได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เช่น ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะการเจรจาต่อรอง สำหรับผู้ที่เคยทำงานมาแล้วหรือทำงานอยู่ ต้องพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกปี 2020 (World Economic Forum 2020) ระบุทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน อาทิ ทักษะการใช้เทคโนโลยีในการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการแก้ปัญหา ที่ซับซ้อน ทักษะในการให้บริการหรือการมีจิตใจในการให้บริการที่ดี ทักษะการบริหารจัดการทางการเงินและทรัพยากร ทักษะความเป็นผู้นำและการมีอิทธิพลทางสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน"
ที่มา : pptvhd36