ในยุคของการทำธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ทำให้การจับจ่ายใช้สอย หรือการลงทุนทำธุรกิจต่างๆ เป็นเรื่องง่าย แค่เพียงดำเนินการผ่านแอบพลิเคชั่นบนมือถือ หรือรูดบัตรเครดิตใช้เงินอนาคตตามอำเภอใจ ทำให้หลายคนต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมากอย่างไม่ทันตั้งตัว
แน่นอนสิ่งที่ตามมา คือถูก ขึ้นบัญชีดำแบล็คลิสต์ (Blacklist) จากพฤติกรรมเบี้ยวชำระหนี้ ที่บางคนมักเรียกว่า “ติดเครดิตบูโร” และทำให้เมื่อคิดอยากขอสินเชื่อกู้เงินซื้อบ้านหรืออยากขอสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจก็ทำได้ยาก ต่อไปนี้ต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับแบล็คลิสต์ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของธุรกิจ ที่กำลังเข้าใจผิดแบบไม่รู้ตัว
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ แบล็คลิสต์ และ ติดเครดิตบูโร คืออะไร
หลายคนมักเข้าใจว่าหากชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด และคงค้างเกิน 90 วัน จะถูกขึ้นบัญชีดำ “แบล็คลิสต์ (Blacklist)” หรือ “ติดเครดิตบูโร” จนทำให้เกิดอุปสรรคในการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ในความเป็นจริงแล้วคำว่า “เครดิตบูโร” เป็นเพียงบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลในการใช้บัตรเครดิต รวมถึงประวัติชำระบัตรเครดิตจากธนาคารต่างๆ พร้อมรายงานความเคลื่อนไหวเครดิตของแต่ละคนให้ธนาคารรับทราบเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ขึ้นบัญชีดำหรือแบล็คลิสต์ (Blacklist) อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
ข้อมูลประวัติแบล็คลิสต์อยู่นานแค่ไหน
ตามปกติบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นเวลา 3 ปี ดังนั้น ต่อให้คุณที่ต้องการกู้หรือเปิดบัตรเครดิตเพิ่ม ทำการเคลียร์หนี้อย่างรวดเร็ว ประวัติเสียเบี้ยวชำระหนี้ของผู้กู้ก็ยังคงอยู่ ซึ่งธนาคารบางแห่งอาจรอพิจารณาเมื่อครบ 3 ปีไปแล้ว โดยนับจากวันที่ปิดบัญชีหนี้เสีย ถึงจะอนุมัติสินเชื่อได้
รวมวิธีเช็กแบล็คลิสต์ จากการตรวจเครดิตบูโร
สำหรับใครที่อยากรู้ว่าตัวเองอยู่ในบัญชีรายชื่อแบล็คลิสต์ หรือไม่ สามารถตรวจเครดิตบูโรกับทางธนาคาร โดยเสียค่าบริการประมาณ 150-300 บาทขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ทั้งจากช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ดังนี้
รอรับผลได้เลย เปิดทำการเฉพาะวันจันทร์ – ศุกร์
1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ เปิดทำการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 – 16.30 น.
2.อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก (โซนธนาคาร) เปิดทำการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 – 18.00 น.
3.สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง เปิดทำการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น.
4.สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
5.ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น .
6.เคาน์เตอร์ ซิตี้แบงก์ เดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และศูนย์การค้าเมกา บางนา เปิดทำการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 18.00 น.
7.เคาน์เตอร์ ยูโอบี สาขาเซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต บางใหญ่ และเดอะมอลล์ ท่าพระ เปิดทำการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 18.00 น.
หรือรอรับผลทางอีเมลด้วยรูปแบบการตรวจสอบทางออนไลน์ ผ่านแอบพลิเคชั่นของแต่ละธนาคาร
เมื่อติดแบล็คลิสแล้ว ควรทำอย่างไร?
1.สรุปรายการหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด
ไม่ว่าจะมาจากสถาบันการเงินใด จำนวนหนี้และดอกเบี้ยเป็นเท่าไร ต้องชำระต่องวดเท่าไร จะได้จัดทำรายรับร่ายจ่ายส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม ลองดูว่าหนี้ก้อนไหนที่จ่ายให้หมดไวได้ก็รีบเคลียร์ให้จบ และหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอกก็ควรจัดการโดยเร็วที่สุด
2.เจรจากับสถาบันการเงิน
ในการขอเพิ่มระยะเวลาในการใช้หนี้ เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างนี้เพราะสถาบันการเงินเองก็ไม่อยากให้หนี้ที่ก่อกลายเป็นหนี้เสีย
3.ทรัพย์สินบางอย่างที่สามารถขายได้ ก็ควรตัดใจขาย
เช่น รถยนต์ เพื่อจะได้มีเงินก้อนมาชำระหนี้ ถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายได้พอสมควร แม้แต่เงินก้อนไม่ว่าจะมาจากเงินโบนัส ค่าคอมมิชชั่น หรือทรัพย์สินอื่นๆที่เปลี่ยนมาเป็นเงินได้ จำไว้ว่าทุกอย่างสามารถหาใหม่ได้ สำคัญคือต้องไม่ทำให้เดือดร้อน
4.อย่าทำพลาดเป็นครั้งที่สอง
หากนี่คือโอกาสในการแก้ตัว ก็ควรที่จะทำให้ได้ตามที่รับปากไว้ ควรชำระหนี้ให้ตรงเวลา และเก็บเอกสารทั้งหมดไว้ เพราะสามารถนำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ดู ในการขอสินเชื่อครั้งใหม่หลักจากที่พ้นแบล็คลิสไปแล้ว
5.หยุดสร้างหนี้เพิ่ม
ทั้งที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ หรือชำระหมดแล้ว ปล่อยสมองให้ผ่อนคลายบ้าง ลองทบทวนดูว่าที่ผ่านมาต้องเจอกับอะไรบ้าง
6.ตรวจสอบข้อมูลเครดิต
สามารถทำการตรวจสอบได้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโร เพื่อเป็นการอัพเดตข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งต้องรออย่างน้อย 3 ปีจึงจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อีกครั้ง
7.พยายามรักษาเครดิตเอาไว้
หลังจากจัดการกับปัญหาที่ค้างคาได้หมดสิ้น การรักษาเครดิตต่อจากนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในอนาคตอาจมีเรื่องที่ต้องยื่นขอสินเชื่อหรือทำบัตรเครดิตเพื่อใช้ในยามจำเป็น ส่วนบัตรเครดิตใดที่มีโอกาสสูงว่าจะก่อหนี้เพิ่มก็ควรปิดไป เหลือใช้เพียงแค่ไม่กี่ใบก็พอ
การชำระหนี้หลังจากที่ติดแบล็คลิสไปแล้ว ถือเป็นบททดสอบสุดหินที่เหนื่อยพอสมควรกว่าจะฝ่าฟันไปได้ ไหนจะต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นรออยู่ การมีวินัยทางการเงิน รู้จักประหยัด และเก็บออม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทุกการใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อใดก็ตามที่สามารถระงับความอยากที่เกินความจำเป็นได้ เมื่อนั้นก็จะห่างไกลจากการเป็นหนี้ได้เช่นกัน
เช็คลิสต์สำคัญก่อนขอสินเชื่อ มีอะไรบ้าง
1.เช็คตัวเองก่อนไปขอสินเชื่อ ตรวจสอบเหตุผลที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับเรา
สาเหตุที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อมีหลายกรณี แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละที่ กรณีของการขอสินเชื่อไม่ผ่าน
ตัวอย่างแรก
หากเราเป็นเจ้าของกิจการที่ต้องการขอสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่เรากลับไม่มีอะไรไปค้ำประกันเลย แบบนี้โอกาสที่จะผ่านค่อนข้างจะน้อย เนื่องจาก การที่เราขาดสภาพคล่อง เป็นเรื่องที่เสี่ยงสำหรับการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว ทางที่ดีเราควรมองหาหลักทรัพย์ค้ำประกันไปยื่นเสนอต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารด้วยก็จะผ่านได้โดยง่าย
ตัวอย่างที่สอง
หากเราเป็นบุคคลธรรมดา และต้องการขอสินเชื่อส่วนบุคคล ต้องเช็คเครดิตบูโรของเราให้เรียบร้อย หากติดปัญหา ต้องรีบแก้ไข ด้วยการยื่นชำระเงินคงค้างต่างๆ และทำเรื่องให้เรียบร้อย เพื่อยื่นขอยกเลิกแบล็คลิสต์ ทำได้ดังนี้ก็จะขอสินเชื่อผ่านแบบสะดวกไม่ติดขัดแล้ว
ดังนั้น ก่อนที่เราจะไปขอสินเชื่อเราควรทำการบ้านก่อนด้วยการเช็คตัวเองก่อนไปขอสินเชื่อ เราต้องรู้ว่าธนาคารแต่ละแห่งมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และปิดข้อบกพร่องเหล่านั้นให้หมด เราต้องตรวจสอบเหตุผลที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับเราก่อนที่เราจะไปขอสินเชื่อนั้นๆ ทำได้ดังนี้โอกาสที่สินเชื่อจะได้รับการอนุมัติก็จะสูงขึ้น
2.ตรวจสอบเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน
เอกสารในการขอสินเชื่อขึ้นอยู่กับประเภทของสินเชื่อ แต่เอกสารหลักๆ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน เทคนิคง่ายๆ ก็คือ ลองโทรไปสอบถามถึงเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ก่อนที่เราจะเดินทางไปยังธนาคาร เราสามารถสอบถามถึงเอกสารสำคัญต่างๆ และจำนวนสำเนาของเอกสารที่ต้องใช้ เตรียมให้พร้อมเสียก่อนก็จะช่วยร่นเวลาในการอนุมัติไปได้มากมายทีเดียว
3.อัพเดทบุคแบงค์ เดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ
บางครั้งบุคแบงค์ของเราอาจไม่ได้รับการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ หรือใน Statement มีรายได้เข้ามาไม่แน่นอนไม่มีรูปแบบตายตัว หรือมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือบัญชีเราอาจแห้ง นั่นคือสัญญาณที่ไม่ดี หากเรานำเอกสารนี้ไปขอสินเชื่อ โอกาสที่จะไม่ได้รับการอนุมัติจะมีสูงกว่า ทางที่ดีเราควรเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ อย่าทำให้บัญชีของเราแห้ง (ให้มีเงินเหลือติดบัญชีเอาไว้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายเล็กๆ ควรให้ความใส่ใจกับการเดินบัญชีมากเป็นพิเศษ
4.ตรวจสอบความสามารถทางการเงิน
การตรวจสอบความสามารถในการหาเงินในมุมมองของนายธนาคาร ก็คือ ความสามารถที่เราจะสร้างรายได้เข้ามาได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะนั่นคือความแน่นอน และความเชื่อถือที่เราจะสามารถผ่อนชำระดอกเบี้ยเงินกู้ได้ทุกงวด ก่อนที่เราจะไปขอสินเชื่อ ควรตรวจสอบความสามารถทางการเงินของเราเสียก่อน หากเราเป็นเจ้าของกิจการควรมีกระแสเงินสดเข้าสู่กิจการอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การอนุมัติเงินสินเชื่อผ่านได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอนที่สุด
5.ตรวจสอบเครดิตของเราเอง
การตรวจสอบเครดิตของเราเองทำได้ง่ายๆ ด้วยการยื่นขอตรวจสอบเครดิตบูโรกับทางธนาคาร อาจเป็นธนาคารที่เราต้องการขอสินเชื่อก็ได้ เพราะการตรวจสอบเครดิตของเราเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกธนาคารใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ สำหรับคนที่คิดว่าเรามีเครดิตตกค้าง ควรดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนไปขอสินเชื่อจะดีที่สุด
6.เตรียมหาผู้ค้ำ หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน
การอนุมัติสินเชื่อนั้น ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีผู้ค้ำประกันที่น่าเชื่อถือ ผู้ขอต้องมองหาหลักทรัพย์ที่เหมาะสมกับวงเงินที่ขอสินเชื่อ หากหลักทรัพย์นั้นๆ ยังไม่เหมาะสมพอ ก็ควรหาหลักทรัพย์เพิ่มเติม หรือหาผู้ค้ำประกันในกรณีอื่นๆ หรือแม้แต่หาผู้กู้ร่วมที่มีความน่าเชื่อถือมากๆ ก็จะช่วยให้การอนุมัติผ่านได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น