เพราะพฤติกรรมการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในขณะที่กลุ่มคนทั่วไปโดยเฉพาะ Gen-Y นิยมอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น พร้อมทั้งหันไปทำกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยลดความเหงา นอกจากนี้ ยังพบว่า คนกลุ่มนี้มีกำลังการซื้อสูง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และมีพฤติกรรมใช้เงินซื้อความสุขให้กับตัวเอง จนบางครั้งก็ลืมให้ความใส่ใจในเรื่องการออมเงิน
จากผลสำรวจภาวะความเหงาของคนในสหรัฐอเมริกาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส พบว่า กลุ่ม Gen- Z อายุระหว่าง 18-22 ปี เป็นกลุ่มที่ประสบความเหงาสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยการตลาดในกลุ่มคนเหงาของไทย พบว่า 40.4% หรือราว 1 ใน 3 ของกลุ่มสำรวจ ประสบภาวะความเหงาในระดับสูง
โดยช่วงอายุที่มีแนวโน้มความเหงาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 23-40 ปี ครองอันดับสูงสุด 49.3% รองลงมาคือ 41.8% เป็นเยาวชนวัยเรียน อายุระหว่าง 18-22 ปี และ 33.6% เป็นวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 41-60 ปี
ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี กลับประสบภาวะความเหงาเพียงร้อยละ 24.5 เนื่องจากมีความพร้อมด้านการจัดการอารมณ์และรายได้ เพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมแก้เหงาเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท คิดเป็น 46.3% บอกว่าเป็นคนเหงา เพราะรายได้ที่ไม่มีจึงไม่สามารถออกไปเที่ยวหรือช้อปปิ้งได้ ในขณะที่รายได้ 15,001-30,000 บาท มีสัดส่วนคนเหงา 44.1% และรายได้ 50,001-10,000 บาท มีสัดส่วน 40.1%
โดยจากข้อมูลงานวิจัยพบว่า 3 พฤติกรรมที่จัดการความเหงาที่ผู้คนมักใช้ ได้แก่
1.เข้าถึงโซเชียลมีเดีย
เป็นวิธีช่วยคลายเหงาที่เข้าถึงง่าย สามารถสร้างความรู้สึกร่วมกับสังคมเสมือนบนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงยังเป็นหนึ่งในวิธีการแก้เหงาที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยคนเหงาชอบใช้ Facebook มากที่สุด 36.7% รองลงมาเป็น LINE 33.0%, Instagram 16.7% และ Twitter 11.9% โดยส่วนใหญ่แล้ว 51.3% เป็นสายส่อง รองลงมา 30% เป็นสายเมาท์ และ 14.4% เป็นสายโพสต์
2.รับประทานอาหารในร้านอาหารหรือคาเฟ่
เป็นหนึ่งกิจกรรมที่มอบความสุขให้กับตัวเองไปพร้อมกับการมีผู้คนอยู่รอบตัว ซึ่งช่วยลดทอนบรรยากาศและความรู้สึกโดดเดี่ยว
3.การช้อปปิ้ง
นอกจากจะช่วยหลบหนีความรู้สึกด้านลบในจิตใจแล้ว ยังตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ได้เช่นเดียวกับการไปร้านอาหารหรือคาเฟ่ รวมถึงใช้ความพยายามและค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมน้อยที่สุด
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมที่กล่าวไปทั้ง 3 ข้อ ยังสอดคล้องกับกลุ่ม Gen Z อายุระหว่าง 10-24 ปี ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านสถานะทางสังคม จากนักเรียน นักศึกษา ก้าวสู่วัยเริ่มต้นทำงาน
จากการวิจัยพบว่า กว่า 70% ของคน Gen Z มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินมากกว่าการเก็บออม และมักใช้ไปกับกิจกรรมด้านไลฟ์สไตล์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง 3 พฤติกรรมการจ่ายสูงสุดในกลุ่ม Gen Z ได้แก่ กิจกรรมที่ได้พบปะสังสรรค์ตามสถานที่ต่างๆ การช้อปปิ้ง และการเสพความบันเทิง
โดยกลุ่ม Gen Z ส่วนใหญ่เลือกใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 94% และมักเลือกบริโภคคอนเทนต์เพื่อผ่อนคลายความกดดันจากการทำงาน ซึ่งมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมกลุ่มคนเหงาอีกด้วย
ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับอานิสงค์ ได้แก่
1.ธุรกิจคอมมิวนิตี้ อาทิ ร้านอาหาร คาเฟ่ บอร์ดเกมส์ ฯลฯ
2. ธุรกิจอสังหาฯ และโค-สเปซ
3. ธุรกิจดิจิทัล อาทิ แอปพลิเคชัน ออนไลน์แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีสารสนเทศ
4. ธุรกิจสัตว์เลี้ยง
5. ธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นตลาดธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนเหงาได้อย่างเต็มที่ และเข้ากับไลฟ์สไตล์คนเหงาปัจจุบัน
รู้ดังนี้แล้ว ใครที่มองเห็นโอกาส ชี้ช่องรวย ขอแนะนำให้วางแผนและลงมือทำกันได้แล้วนะคะ เพราะใครมองเห็นก่อนลงมือทำก่อนย่อมได้เปรียบ เอาใจช่วยนะคะ