โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ข้อดีของธุรกิจ “แฟรนไชส์” และความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจ “แฟรนไชส์” กลายเป็นทางเลือกลงทุนในระดับต้น ๆ เพราะถือเป็นช่องทางธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง เพราะเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ หรือบริษัทแม่โดยส่วนใหญ่นั้น จะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของตลาดอยู่แล้ว ผู้ที่ซื้อสิทธิรายใหม่จึงไม่ต้องสร้างชื่อเสียงเอง ทำให้ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านส่งเสริมการตลาดลงไปได้มาก วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาบอกข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์รวมไปถึงความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไว้เป็นข้อมูลในการพิจารณาลงทุนมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

ข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์

1.ใช้เงินลงทุนไม่มาก

ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ตามกำลังเงินทุนที่มี ซึ่งมีทั้งที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึงแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้นผู้ที่มีเงินทุนน้อยก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจแบบเอสเอ็มอีได้ และยังช่วยประกันความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง

2.มีช่องทางการตลาดรองรับ

ปกติแล้วธุรกิจที่ขยายแฟรนไชส์มักจะดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จนตราสินค้ารวมทั้งสินค้าหรือบริการเป็นที่ยอมรับของตลาด ดังนั้นช่องทางตลาดสำหรับผู้ที่เข้ามาซื้อสิทธิแฟรนไชส์ จึงใช้เวลาไม่นานก็สามารถขยายและเติบโตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากบริษัทแม่ที่จำหน่ายแฟรนไชส์ ช่วยลดระยะเวลาในการทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักของลูกค้าอยู่แล้ว

3.ไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง

โดยปกติผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ด้วยตนเอง มักจะขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจ แต่การลงทุนแฟรนไชส์ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ จะมาพร้อมเทคนิคหรือการริหารจัดการที่เพียบพร้อมจึงช่วยลดระยะเวลาที่ต้องเรียนรู้ธุรกิจให้สั้นลง ในขณะเดียวกันยังสามารถให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ลงทุน

4.ต้นทุนต่ำ

ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีสมาชิกในเครือข่ายที่มากจะทำให้ปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบ ตลอดจนอุปกรณ์การผลิตต่างๆ มีสูง ซึ่งได้ราคาที่ต่ำกว่าการสั่งซื้อสินค้าทีละน้อย และเป็นปัจจัยทำให้ธุรกิจมีต้นทุนต่ำลงและมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น

ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทในธุรกิจแฟรนไชส์

1.เลือกธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง

การเลือกทำธุรกิจตามความชอบหรือสนใจและมีความถนัดหรือเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นอยู่บ้าง จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่เกิดความท้อถอยแม้จะพบอุปสรรค ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะเรียนรู้หาทางแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ นอกจากนี้การทำธุรกิจที่ถนัดหรือชอบจะทำให้สามารถเรียนรู้หลักการบริหารจัดการต่างๆ จากบริษัทแม่ผู้ขายแฟรนไชส์ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีความถนัดอยู่เดิม เช่น หากเดิมเคยประกอบธุรกิจร้านอาหารเล็กๆ มาก่อน การซื้อแฟรนไชส์ ที่มีชื่อเสียงมาเปิดดำเนินการก็จะทำได้ง่าย เนื่องจากมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่พอสมควรแล้ว

2.เลือกทำเลผิดชีวิตเปลี่ยน

แม้ว่าสินค้าหรือบริการจะมีความโดดเด่นหรือมีความน่าสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ แต่หากเลือกทำเลที่จะเปิดดำเนินการไม่เหมาะสม เช่น สถานที่ที่มีลูกค้าสัญจรไปมาน้อยหรือสถานที่ซึ่งลูกค้าเดินทางมาไม่สะดวก ประการสำคัญพื้นที่นั้นมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายหรือใกล้เคียงกัน เปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือการแข่งขันที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจในท้ายที่สุด ดังนั้นการเลือกทำเลที่เหมาะสม

จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือการเติบโตของธุรกิจ โดยในเบื้องต้นผู้ประกอบการควรใช้เวลาเสาะแสวงหาทำเลที่จะเปิดดำเนินการโดยไม่รีบร้อนและต้องพิจารณาทำเลหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะทำเลที่สอดคล้องกับสินค้าหรือบริการที่จะจำหน่าย เช่น ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารสำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า หมู่บ้านจัดสรร หรือตั้งอยู่ในศูนย์การค้า เป็นต้น ทั้งนี้หากจำเป็นก็อาจต้องมีการศึกษา ทำวิจัย พฤติกรรมผู้ซื้ออย่างละเอียดประกอบการเลือกทำเล

3.ปล่อยปละละเลยไม่ได้

มีหลายกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพทางด้านเงินทุนดำเนินการ แต่มีข้อเสียคือไม่มีเวลาที่จะบริหารเองและเมื่อลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ไปแล้วก็มักจ้างคนมาทำหรือให้ญาติพี่น้องมาดูแล ซึ่งอาจส่งผลทำให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยความไม่ราบรื่น เนื่องจากความเอาใจใส่ต่อการดูแลจัดการธุรกิจจะมีน้อยกว่ากรณีที่เจ้าของลงมือทำเอง เนื่องจากการขาดจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของกิจการนั่นเอง ในขณะเดียวกันการให้ผู้อื่นเข้ามาบริหารกิจการแทนนั้นอาจประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่รั่วไหลออกไป จนส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจก็เป็นได้

4.มุ่งมั่นและจริงจัง

ผู้ประกอบการหากไม่มีความจริงจังในการทำธุรกิจ การที่จะประสบความสำเร็จก็ค่อนข้างลำบาก เพราะหากเจอปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ก็จะรู้สึกท้อถอย ซึ่งต่างจากผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นและจริงจังในการประกอบธุรกิจ ที่จะทุ่มเทให้กับการบริหารและจัดการองค์กรให้สามารถฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปได้ รวมทั้งยังมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ พัฒนาและเข้ารับการฝึกอบรมทางด้านการผลิต การตลาด รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ตามที่บริษัทแม่เจ้าของแฟรนไชส์จัดให้
ทั้ง 4 ข้อนี้หากไม่มีความใส่ใจที่มากพออาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจที่ลงทุนไปไม่ประสบความสำเร็จได้ แน่นอนว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยงแต่หากผู้ลงทุนมีความตั้งใจและรู้ถึงปัญหาก็สามารถประสบความสำเร็จได้