โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

“ตัวแทนจำหน่าย” ดีจริงหรือ? มีข้อดี ข้อเสีย อะไรบ้าง

“ตัวแทนจำหน่าย” เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับรูปแบบธุรกิจนี้กันมาบ้าง วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกถึง การเป็น ตัวแทนจำหน่าย ดีจริงหรอ มีข้อดี ข้อเสีย อะไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจระบบธุรกิจรูปแบบนี้มากขึ้น

ตัวแทนจำหน่าย หรือเรียกอีกอย่างง่าย ๆ ว่า นายหน้า คือ คนที่มีความสนใจในสินค้านั้น ๆ และอยากนำไปขาย โดยไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าของเราไปสต๊อค หรือจะสต็อคสินค้าก็ได้เช่นกันแล้วแต่ความสะดวก

ตัวอย่าง : หากเราเป็นผู้ผลิตสินค้า หรือ เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีจำนวนมาก และมีผู้คนให้ความสนใจอยากจะนำสินค้าดังกล่าวของเราไปขายนั่นจะเรียกว่า “ตัวแทนจำหน่าย” ซึ่งรูปแบบของการนำสินค้าไปขายของผู้ที่สนใจก็จะมีทั้งแบบ สต็อคสินค้า และไม่สต็อคสินค้า นั่นก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ต้องสต็อคสินค้า

ถามว่า ตัวแทนจำหน่าย ดีจริงหรือ

ชี้ช่องรวย มองว่า การที่จะประสบความสำเร็จทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์ และ ตัวแทนจำหน่าย จะต้องมาจากหลายปัจจัยหรือความเข้าใจที่ตรงกัน นั่นหมายถึง สามารถร่วมมือทำงานช่วยกันผลักดันให้สินค้าขายได้ไม่ว่าจะเป็น การโปรโมท การรีวิว เป็นต้น สร้างความน่าสนใจในตัวสินค้าให้เกิดความน่าสนใจจนใครเห็นก็อยากซื้อ นอกจากนี้ ตัวสินค้าที่จะเลือกมาขายนั้นจะต้องเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพซึ่งในที่นี้ไม่เกี่ยวกับราคา เพราะแท้จริงแล้ว คำว่าแพง หรือ ไม่แพง จะขึ้นอยู่กับว่าเราขายสินค้านั้นให้กับใคร แล้วความคาดหวังในตัวสินค้านั้นสูงมากแค่ไหน

ข้อดี ของการเป็นตัวแทนจำหน่าย

1.ใช้เงินลงทุนไม่มาก

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการเป็นตัวแทนจำหน่ายนั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอะไรมากมาย แถมไม่จำเป็นต้องสต็อคสินค้า เรามีหน้าที่เพียงหาวิธีขายสินค้าให้ได้ ซึ่งวิธีการก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคลยิ่งในยุคที่ออนไลน์เป็นเครื่องมือการขายสินค้าซักชิ้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

2.เลือกขายสินค้าได้

ในวงการนี้เราสามารถจะหยิบจับสินค้าอะไรมาขายก็ได้ และแน่นอนว่าจะต้องเลือกสินค้าที่ขายดีติดตลาด มีผู้คนให้ความสนใจ ที่สำคัญเราสามารถสำรวจตลาดได้ว่าสินค้าปรพเภทไหนเป็นที่ต้องการและมีความนิยม หากมีแนวโน้มที่ดีเราก็สามารถสต็อคสินค้าไว้จำหน่ายได้เอง แถมยังได้ซื้อในราคาที่ถูกกว่าอีกด้วย

3.ความเสี่ยงน้อย

การเป็นตัวแทนจำหน่าย เรามีหน้าที่เพียงแค่ขายสินค้าที่มีอยู่ให้ได้ ไม่เหมือนผู้ประกอบการขายดีหรือขายไม่ดีมีผลต่อความรู้สึกทั้งนั้น ไหนจะปัญหาจิปาถะทั้งเรื่องการผลิต คู่แข่ง ฯลฯ แต่การเป็นตัวแทนจำหน่ายมองข้ามเรื่องพวกนี้ไปเลย แค่พยายามขายสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องอื่นให้ปวดหัว

4.ได้ซ้อมก่อนลงมือจริง

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็เริ่มมาจากการเป็นตัวแทนจำหน่าย การได้ฝึกเป็นนักขายจากการขายของคนอื่นทำให้เราได้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร สินค้าแบบไหนที่ทำมาแล้วจะขายดี ยิ่งเป็นตัวแทนนานๆ ก็อาจทำให้รู้จักโรงงานผู้ผลิต แหล่งวัตถุดิบ ในอนาคตเราอาจผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการได้เลยทีเดียว

ข้อเสีย ของการเป็นตัวแทนจำหน่าย

1.ควบคุมสินค้าเองไม่ได้

แน่นอนว่าผู้ขายทำได้เพียงรับสินค้ามาขายเท่านั้น ได้มาแบบไหนก็ต้องขายแบบนั้น เราไม่สามารถออกแบบหรือใส่ความต้องการของตัวเองลงไปในสินค้านั้นได้ หรือในบางครั้งหากสินค้าที่ต้องการขายไม่เพียงพอก็ต้องหาสินค้าจากเจ้าอื่นมาขาย ซึ่งอาจจะได้ในราคาที่แพงกว่าทำให้กำไรลดลง

2.ด่านแรกรับแรงประทะ

ในเมื่อเราเป็นคนขายคนซื้อเขาไม่สนใจหรอกว่าเราเป็นแค่ตัวแทนหรือเจ้าของถ้าสินค้าที่ซื้อจากเราเกิดไม่ดี ใช้แล้วมีปัญหาคนที่เขาจะกลับมาโวยวายใส่คนแรกก็คือเราที่เป็นคนขาย ดังนั้นงานตัวแทนจึงอยู่กับการแบกรับอารมณ์ลูกค้าที่มีหลากหลายประเภท ในขณะที่เจ้าของสินค้าตัวจริงอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง

3.มีคู่แข่งรอบด้าน

ในยุคที่ใครๆ ก็เป็น พ่อค้า แม่ค้า ได้เพียงแค่ปลายนิ้ว แน่นอนว่าการหลีกเลี่ยงการแข่งขันเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นการสร้างตัวตนให้โดนเด่นจนเป็นที่สนใจถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อกับเรา

4.ราคาถูกกำหนดไว้แล้ว

แน่นอนว่าการตั้งราคาเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ เพราะราคาต้นทุนได้ถูกกำหนดมาไว้แล้ว หากจะตั้งราคาถูกเกินไปก็จะได้กำไรน้อย ตั้งราคาสูงเกินไปก็ไม่มีคนซื้อ ดังนั้นการตั้งราคาขายทำได้เพียงราคากลางเท่านั้น หรือาจจะน้อยกว่านี้เพื่อเอาใจลูกค้า นี่จึงเป็นข้อด้อยสำคัญที่หลายบอกว่าสินค้าที่กำหนดราคาเองไม่ได้ทำแล้วเหนื่อย

5.กฏเกณฑ์น่าอึดอัดอาจไม่ถูกใจนัก

บางคนเจอสินค้าที่เปิดระบบตัวแทนแบบที่ต้องมีกำหนดขั้นต่ำในการสั่งสินค้าเพื่อสต็อคขาย บางคนเจอสินค้าที่ชอบขายพ่วงซื้อสินค้านี้ไปขายก็ต้องเอาสินค้าอีกตัวไปขายด้วย ไหนจะระบบการจ่ายเงินที่บางทีไม่ใช่ขายขาด แต่ต้องมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์การขายหรือนำมาหักแบ่งก่อนที่จะส่งคืนรายได้ให้ผู้ขาย บางทีก็เจอข้อกำหนดแบบเป็นตัวแทนที่นี่แล้วห้ามเป็นตัวแทนรายอื่น ข้อกำหนดที่หยุมหยิมเหล่านี้บางทีก็น่าอึดอัดเหมือนกัน