ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันฃ่องทางออนไลน์เป็นอีกช่องทางหลักในการค้าขายแถมยังมีประสิทธิภาพเข้าถึงกลุ้มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง แต่ใช่ว่าของดีจะไม่มีปัญหา วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกถึง “ปัญหาที่ร้านค้าออนไลน์ต้องเจอ และแนวทางการรับมือ” ว่ามีอะไรบ้าง
1.ผู้ขายไม่วิเคราะห์ตลาด
เชื่อว่าหลายคนยังมีความคิดที่ว่าของของออนไลน์เป็นเรื่องง่ายใครก็ทำได้ นั่นก็เป็นความเชื่อที่ไม่ผิด แต่ในความเป็นจริงนั้นการขายของออนไลน์ก็คล้ายกับการทำธุรกิจทั่วไปที่ต้องมี “การวิเคราะห์ตลาด” ว่าสินค้าของเรามีโอกาสมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ประกอบการหลายรายมักมองข้ามในเรื่องนี้ แล้วกระโดดลงมาดำเนินการเลย ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน
แนวทางแก้ไข
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้ผู้ประกอบการควรมีแผนการดำเนินงาน หรือสร้างกลยุทธ์ วิเคราะห์ออกมาว่าธุรกิจเรามี จุดแข็ง – จุดอ่อน อย่างไร นำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงการวางแผนทำการตลาดใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค การทำโปรโมชั่น เพื่อสร้างการรับรู้ที่มีต่อสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
2.ไม่มีการจัดระบบขนส่งสินค้า
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ร้านค้าออนไลน์ตกม้าตายด้วยความที่การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์หากผู้ประกอบการไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มที่เป็นมาร์เก็ตเพลส แต่เป็นการซื้อ-ขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook,Line ซึ่งไม่ได้มีบริการจัดเก็บข้อมูล นั่นหมายความว่าทุกออเดอร์สินค้าที่เข้ามาผู้ประกอบการต้องเป็นคนบันทึกข้อมูลของลูกค้าแต่ละราย ลองนึกภาพดูในวันที่มีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากจะวุ่นวายกันขนาดไหน เมื่อมีการบริหารจัดการไม่ดี เก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ ย่อมเกิดข้อผิดพลาดเวลาจัดส่งสินค้าได้ ไม่ว่าจะเป็น ส่งสินค้าให้ลูกค้าผิดคน ส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ลูกค้าสั่ง
แนวทางแก้ไข
หากร้านค้าไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มที่มีการรอบรับในเรื่องนี้ วิธีแก้ คือ หาคนมารับผิดชอบโดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลของลูกค้าผ่านโปรแกรม Microsoft Office เช่น Excel หรืออาจจะลงทุนกับแพลตฟอร์มที่ให้บริการเรื่องจัดการดูแลออเดอร์สินค้า ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการทำธุรกิจออนไลน์ในอนาคต รวมถึงเป็นการรองรับขยายตัวของธุรกิจในระยะยาวต่อไป
3.อัปเดตล่าช้า หรือไม่อัปเดต
ลองนึกภาพหากเราเป็นลูกค้าคงเสียความรู้สึกไม่น้อย เมื่อสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว ต่อมาได้รับการแจ้งเตือนว่า “สินค้าหมดสต็อก” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เช็กจำนวนสินค้าที่มีอยู่ในคลัง จึงทำให้เสียโอกาสที่จะสร้างรายได้ ยิ่งไปกว่านั้นในเวลาซื้อสินค้าครั้งต่อไปมุมมองที่มีต่อแบรนด์ก็อาจไม่เหมือนเดิม และเกิดการเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ที่ขายสินค้าใกล้เคียงกัน
แนวทางแก้ไข
หน้าเว็บออนไลน์ก็เหมือนน่าตาของเราหมั่นอัปเดตข้อมูลของสินค้าอยู่เรื่อย ๆ หรืออาจจะทำตารางสรุปข้อมูลในรอบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ดูว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าเพื่อวางแผนว่าสินค้ามีความเสี่ยงที่จะขาดตลาดหรือไม่ เมื่อสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ รู้ว่าสินค้าชนิดนี้มีความต้องการของลูกค้าสูง ก็จะสั่งเข้ามาเพิ่มได้ทันที ไม่ต้องรอให้สินค้าหมดก่อน
4.ละเลยบริการหลังการขาย
การขายผ่านทางออไนลน์ไม่ใช่ รับออเดอร์ โอนเงิน ส่งสินค้า แล้วทุกอย่างจะจบไป ในทุกรูปแบบการขาย การบริการหลังการขายถือเป็นหัวใจสำคัญซึ่งลูกค้าทุกคนต้องการ เช่น การรับประกัน การรับคืนหรือเปลี่ยนสินค้า ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งต้องเข้าใจว่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั้นลูกค้าไม่สามารถเห็นสินค้าจริง เช่น เสื้อผ้า มีโอกาสที่สินค้าจะผิดไซส์ ไม่พอดีกับตัว การผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้น บริการหลังการขายจะเป็นตัวช่วยที่ให้ลูกค้าเกิดความอุ่นใจ มีความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ และไม่ลังเลที่ซื้อ
แนวทางแก้ไข
ผู้ประกอบการควรหันมาใส่ใจในเรื่องของ บริการหลังการขาย ซึ่งจะส่งผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย แล้วยังช่วยสร้างตัวตนให้กับแบรนด์ควบคู่ไปกับการทำการตลาด เช่น การสอบถามลูกค้าว่าได้รับสินค้าหรือยัง พร้อมให้ถ่ายรูปคู่กับสินค้าพร้อมกับติดแท็กของแบรนด์ผ่าน Facebook และ Instagram โดยมอบส่วนลดเมื่อมีการสั่งซื้อครั้งต่อไป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ขยายออกไปในวงกว้าง
5.ถูกตัดราคาจากร้านคู่แข่ง
ปัญหาการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ไม่จบแค่นี้ แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องพบเจอบ่อย ๆ คือ “การตัดราคาสินค้าจากคู่แข่ง” โดยลูกค้ามักจะนำมาเปรียบเทียบจากหลาย ๆ แบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น เสื้อผ้า รองเท้าซึ่งอาจมีการตัดราคาเกิดขึ้นเพื่อแย่งชิงลูกค้า โดยส่วนใหญ่แล้วลูกค้ามักจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า
แนวทางแก้ไข
การลดราคาตัดกันไปมาไม่ใช่ทางแก้ที่จะได้ผลเสมอไปอีกทั้งยังทำให้ได้กำไรน้อยลงอีกด้วย ลองเปลี่ยนมาสร้างจุดเด่นของสินค้าขึ้นมา เพราะการกำหนดราคาต้องมีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับคุณภาพกับวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้า โดยใช้วิธีบอกเล่าที่มาที่ไปของสินค้าวัตถุดิบ-กระบวนการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจสินค้าที่เลือกซื้อไปมีความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป