ทำความรู้จักแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” คืออะไร แตกต่างจาก “ไทยชนะ” อย่างไร ทำไม ศบค.ถึงขั้นขู่เข้ม บังคับใช้ ใครป่วยโควิด-19 ไม่มีอาจผิดกฎหมายควบคุมโรค
วันที่ 7 ม.ค.64 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โดยมีประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการระบุว่า ขอความร่วมมือคนไทยทุกคนให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และย้ำว่า สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หากพบว่าไม่มีการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวอาจะมีความผิดตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การรณรงค์ให้ประชาชนติดตั้งแอปฯ “หมอชนะ” สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งมี 4 ข้อ ประกอบไปด้วย
- ยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้เจ้าหน้าที่ฯ ดูแลรับผิดชอบ สถานที่ กิจกรรม หรือกิจการต่างๆ ให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน "หมอชนะ"ควบคู่ "ไทยชนะ"
- ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ให้ตั้งจุดคัดกรองเข้มข้น ในจังหวัด จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่
- ปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค
- โทษ ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” คืออะไร
สำหรับแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เป็นแอปฯ ที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code เช่น ไทยชนะ เพื่อเช็กอินตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรคและบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยหมอชนะจะแจ้งไปยังกลุ่มผู้ใช้งานที่มีประวัติสัมผัสหรือเข้าใกล้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง
“หมอชนะ” ใช้งานอย่างไร
แอปฯ หมอชนะจะคอยส่งบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ โดยจะทำการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งาน ซึ่งตรวจพบความเสี่ยงของผู้ใช้งานหากมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงจะได้รับข้อความแนะนำวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องจากกรมควบคุมโรค ผ่านทางแอปฯ ทั้งนี้ แอปพลิเคชันถูกออกแบบไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพของผู้ใช้งานและระมัดระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
สงสัยถึงการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
แอปฯ หมอชนะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปเท่าที่จำเป็นเกี่ยวข้องและพอเพียงต่อขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับคำแนะนำวิธีการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 โดยจะมีการเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังโทรศัพท์มือถือและบันทึกการเดินทางของผู้ใช้งาน เพื่อที่จะส่งข้อความแจ้งเตือนและคำแนะนำในการปฏิบัติตนไปยังแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือในกรณีที่ผู้ใช้งานมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19
แอปฯ หมอชนะ เป็นของหน่วยงานใด
แอป “หมอชนะ” เป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ” โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้นโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก
“หมอชนะ” และ “ไทยชนะ” ต่างกันอย่างไร
ทาง ศบค.เน้นย้ำว่าต้องใช้ แอปฯ “หมอชนะ” และ “ไทยชนะ” ควบคู่กันไป สำหรับ “ไทยชนะ” จะเป็นการเช็กอินว่าเราไปสถานที่สาธารณะจุดไหนมาบ้าง ขณะที่ “หมอชนะ” จะเป็นการบันทึกการเดินทาง คอยสแกนคนใกล้ตัว และแจ้งเตือนหากไปใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยง โดยรวมคือเพื่อให้ง่ายในการตรวจสอบไทม์ไลน์ รวมถึงช่วยประเมินและแจ้งเตือนความเสี่ยงโควิด-19 นั่นเอง