การเขียนแผนธุรกิจ ถือเป็นก้าวแรกของการจะเริ่มต้นธุรกิจเลยก็ว่าได้ เปรียบเหมือนคู่มือในการปฎิบัติการที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งภายในองค์กร รวมไปถึงใช้เป็นใบเบิกทางเพื่อขอกู้สินเชื่อกับทางสถาบันการเงิน ซึ่งการอนุมัติจะผ่านหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจเลยก็ว่าได้ วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงได้นำวิธีการเขียนแผนธุรกิจ แบบเข้าใจง่ายมานำเสนอ มาดูกันเลยดีกว่าว่าจะมีอะไรบ้าง
1.แนวคิดหรือหลักการในจการทำธุรกิจ
เป็นส่วนที่แนะนำ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างและภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจหรือโครงการ เป็นเหมือนบทเกริ่นนำ ที่มีความสำคัญเพราะควรเป็นส่วนที่ชักจูงและดึงดูดให้ นักลงทุน หรือผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนสนใจในธุรกิจ มักมีความยาวประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ ประกอบด้วยข้อมูลสรุปเกี่ยวกับ
- ภาพรวมธุรกิจ
- โอกาสและการแข่งขัน
- เป้าหมาย
- กลยุทธ์
- แผนการลงทุน
- ผลตอบแทนที่คาด
2.ความเป็นมาของธุรกิจ
ความเป็นมาของธุรกิจ คือ การอธิบายถึงลักษณะของธุรกิจในปัจจุบัน และสิ่งที่จะถูกพัฒนาขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นส่วน ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ที่อยู่รวมไปถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการวิเคราะห์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของกิจการ ที่ควรสะท้อนถึงความเป็นจริง สามารถวัดผลได้ มีความท้าทาย และเป็นไปได้จริงต่อองค์กร
3.แนวคิดวิเคราะห์ความเสี่ยง และโอกาส
วิเคราะห์ความเสี่ยง และโอกาส หรือที่รู้จักกัน คือ SWOT Analysis โดยเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกต่างๆ ที่มีผลดีและอาจเป็นความเสี่ยงต่อบริษัท ได้แก่ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จุดแข็ง จุดอ่อน และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
4.แผนการตลาด
เป็นการเขียนแผนธุรกิจที่อธิบายเกี่ยวกับกลยุทธ์การเข้าถึงตลาดที่กิจการได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) ตลอดจนกลยุทธ์ในการเข้าถึงและการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเป้าหมายทางการตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจให้กับนักลงทุน หรือผู้ให้บริการ
5.แผนการดำเนินงาน
การเขียนแผนการดำเนินงานควรจะมีรายละเอียด ซึ่งแต่ละสถานประกอบการจะมีรูปแบบและแนวทางในการดำเนินงานต่างกันไป แต่ทุกธุรกิจจะต้องเขียนให้ออกมาสท้อนถึงความเป็นจริง โดยขั้นตอนในการดำเนินหลัก ๆ จะประกอบด้วย
- แผนการผลิต
- แผนการควบคุมคุณภาพ
- แผนการบริหารพนักงาน
- แผนการควบคุมวัตถุดิบ
- แผนการจัดส่ง
- แผนการควบคุมคลังสินค้า
- แผนการบริการลูกค้า
6.แผนการเงิน
แผนการเงินถือเป็นส่วนที่แสดงข้อมูลเชิงปริมาณที่ผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน และนักลงทุนใช้เป็นหัวข้อสำคัญในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ แผนการเงินที่ดีจะดึงดูดนักลงทุน และผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน การเขียนแผนธุรกิจ ควรมีแผนการบริหารเงินให้กิจการสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ไม่มีสะดุด โดยต้องสะท้อนความเป็นจริงทั้งเป้าหมาย และตัวเลขทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงภายในกิจการ โดยข้อมูลสำคัญที่ควรมีในการเขียนแผนธุรกิจหัวข้อนี้ คือ
- แผนการลงทุน
- การประมาณการรายได้และผลตอบแทนที่จะได้รับ
- ข้อมูลทางการเงินของกิจการ ได้แก่ งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุนสุทธิ และงบกระแสเงินสด
- การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
- การวิเคราะห์ระยะเวลาคืนทุน
- การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน
7.แผนสำรองรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
หมายถึง การวางแผนเพื่อแก้ไขสถานกาณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยทางธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจ หรือการร้องเรียนจากลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น เช่น แผนรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19 หรืออาจจะเป็น เหตุไฟไหม้ น้ำท่วม ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ กิจการควรมีแผนการรับมือรองรับ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้ในภาวะที่เกิดปัญหา เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน และผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน ถึงความสามารถในการรับมือกับทุกสถานการณ์
ทั้ง 7 ข้อนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีอยู่ในแผนธุรกิจ ซึ่งสามารถใช้เป็นใบเบิกทางสำคัญในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามแผนธุรกิจนั้นควรอิงจากความเป็นไปได้ให้มากที่สุด และทุกแผนที่เขียนมาควรทำได้จริง