ธุรกิจร้านอาหารประเภท “ร้านชาบู” ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะยุคไหน ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 ทำให้ธุรกินร้านชาบูซบเซาลงไปบ้าง แต่ด้วยการปรับตัวยังคงทำให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ วันนี้ ชี้ช่องรวยจะมาแนะนำถึงการสร้างแบรนด์อย่างไรให้โดนใจลูกค้า มาให้กับคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ได้ลองไปปรับใช้กัน มาดูกันเลยว่าจะมีอะไรบ้าง
ป้ายหน้าร้านก็สำคัญ
ป้ายหน้าร้านในที่นี้ คือป้ายที่โชว์รูปภาพเมนูอาหาร ชนิดที่ใครเดินผ่านไป ผ่านมา เห็นแล้วน้ำลายสอ อยากเข้าไปอุดหนุนทันที เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงลูกค้าเข้าร้าน
ส่วนป้ายชื่อร้านนั้นก็มีความสำคัญ ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน เปรียบได้กับ คน 2 คน ซึ่งมีชื่อไพเราะทั้งคู่ แต่... คนที่ 1 แต่งตัวด้วยชุดสุภาพ สะอาด สวยงาม ส่วนคนที่ 2 ใส่เสื้อผ้ามอมแมม ขาดรุ่งริ่ง หากให้เลือกเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ แน่นอนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ย่อมเข้าไปทักทายคนที่ 1 ก่อน
สาเหตุที่ควรเน้นภาพอาหาร เพราะต่อให้ตกแต่งร้านภายในสวยเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าป้ายหน้าร้านไม่สวยสะดุดตา ก็ยากที่ลูกค้าจะเข้าร้านเพราะคนเดินผ่านไปผ่านมา ไม่สามารถมองทะลุเข้าไปเห็นความสวยงาม หรือความน่าทานของอาหารได้ ฉะนั้นป้ายหน้าร้านควรมีภาพอาหารสวยๆ น่าทาน ขนาดใหญ่เพื่อเป็นตัวดึงดูดลูกค้า
ความสำคัญของชื่อแบรนด์
นอกจากภาพอาหารโตๆ ชวนน้ำลายสอแล้ว ชื่อแบรนด์ หรือชื่อร้านก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้าจดจำ ตลอดจนสามารถใช้เป็นสโลแกน หรือหลักการให้บริการของร้านได้ และนอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเรื่องราวให้กับลูกค้าอีกด้วย
การสร้างแบรนด์
1.เริ่มต้นด้วยการบอกปากต่อปากจากลูกค้า
- เน้นบริการ และอาหารให้ดีที่สุด จนเกิดความประทับใจ
- เมื่อเกิดการบอกต่อแล้ว จึงทำการตลาด เพื่อทำภาพให้ผู้บริโภครู้จักในวงกว้าง เช่น ลงสื่อนิตยสาร หรืออินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับร้านอาหาร, เข้าร่วมแคมเปญกับบัตรเครดิตต่างๆ เพื่อให้ภาพติดตาลูกค้า หรือมาเลี้ยงวันเกิดรับส่วนลดทันที 10% เป็นต้น
2.มาสคอต ตัวการ์ตูนน่ารักๆ วางประดับหน้าร้าน และแปะบนเมนูอาหาร ก็สามารถสร้างความจดจำให้ลูกค้าเป็นอย่างดี
3.คอนเซ็ปต์ร้าน วางคอนเซ็ปต์ และขั้นตอนการเดินของลูกค้าทุกย่างก้าวเมื่อเข้ามาในร้านว่าจะเจออะไรบ้าง เช่น
- พบโลโก้ และมาสคอต
- เมื่อเดินต่อไปพบกับการจัดวางอุปกรณ์การรับประทานอาหารที่ครบถ้วน
- บนโต๊ะมีกระดาษรองจานที่แสดงการอธิบายขั้นตอนการรับประทานอย่างละเอียด หรือคุณค่าทางโภชนาการของอาหารแต่ละชนิด เป็นต้น
ให้ความสนิทสนม อีกหนึ่งการสร้างความประทับใจ
การสร้างความประทับใจนอกจากความเป็นเลิศด้านอาหาร และการบริการแล้ว ความใส่ใจของผู้ประกอบการก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้เกิดการบอกต่อของลูกค้า ฉะนั้น ผู้ประกอบการควรเดินเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าบ้าง เพื่อแสดงถึงการบริการที่มากกว่าให้ลูกค้าดูแลตัวเอง เป็นการยอมเหนื่อยที่คุ้มค่า และได้ใกล้ชิดลูกค้าด้วย แต่ทั้งนี้ต้องสังเกตถึงลักษณะลูกค้าด้วย เพราะบางรายต้องการความเป็นส่วนตัว
ต้องสร้างความอบอุ่น และความเป็นกันเองให้เกิดกับลูกค้า เมื่อลูกค้าได้นั่งแล้วต้องได้รับความรู้สึกว่ารับประทานอาหารในบ้าน แต่มีคนมาคอยบริการ เพิ่มความสะดวกสบายให้ โดยพนักงานต้องเพียงพอ เหมาะสมกับจำนวนโต๊ะอาหาร
อีกหนึ่งข้อดีของการเข้าไปพูดคุยกับลูกค้า ทำให้เราทราบถึงข้อบกพร่องในบางส่วน ซึ่งจะสามารถแก้ไข ปรับปรุงได้ตรงจุด
ข้อชวนคิด อย่าคิดว่าร้านเราดีที่สุดแล้ว หรือเราเป็นผู้ชนะในตลาดแล้ว แต่ต้องคิดเสมอว่าต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และต้องทำการตลาดให้คนนึกถึงเราเสมอ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ร้าน "ชาบู" ธุรกิจที่ใครก็เปิดกิจการได้
7 ต้องระวัง !!! ทำธุรกิจชาบูอย่างไรไม่ให้เจ๊ง