โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

“Divergent Recovery” การฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมของเศรษฐกิจโลกยุค COVID-19

จากตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจโลกปี 2564 จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว โดยจะขยายตัวได้ 5-6% จากที่หดตัวราว 3.5% ในปี 2563 จากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 และหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจโลกสามารถกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ภายในปี 2564 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแบบ V-Shape

 

 

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้แตกต่างจากวิกฤตครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจทุกประเทศจะฟื้นตัวไปพร้อมกันด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) และระบบห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ผ่านกลไกของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แต่วิกฤตในรอบนี้เศรษฐกิจแต่ละประเทศจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่ง IMF ให้นิยามการฟื้นตัวในรูปแบบนี้ว่า “Divergent Recovery” ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ต้นตอของวิกฤตในรอบนี้มาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด ความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของนโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สามารถแบ่งกลุ่มประเทศตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ ดังนี้

 

 

• กลุ่มประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว หมายถึง ประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจนกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ภายในปี 2564 อาทิ สหรัฐฯ ที่ได้อานิสงส์จากการกระจายวัคซีนที่ทำได้อย่างรวดเร็วราว 3 ล้านโดสต่อวัน สูงที่สุดในโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คิดเป็นมูลค่าสูงราว 26% ของ GDP เช่นเดียวกับ จีน ไต้หวัน และ เวียดนาม ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่ถึง 0.01% ต่อประชากร ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศก็เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังขยายตัวได้ในปี 2563 ทำให้บาดแผลทางเศรษฐกิจ (Economic Scarring) อาจน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในปี 2564 โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของ GDP โลก

 

 

• กลุ่มประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวปานกลาง หมายถึงประเทศที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ในปี 2565 ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะฟื้นตัวในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ฮ่องกง แคนาดา รวมถึงไทย

 

 

• กลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวช้า เศรษฐกิจประเทศดังกล่าวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีหรือต้องใช้เวลาอย่างน้อยจนถึงปี 2566 ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อน COVID-19 อาทิ เม็กซิโก อิตาลี สเปน เอกวาดอร์ หากพิจารณามูลค่าส่งออกของไทยรายตลาด พบว่า มีการฟื้นตัวที่แตกต่างกันสอดคล้องไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกปี 2564 ไปยังกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวเร็ว ล้วนขยายตัวดีทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ (ขยายตัว 16%) จีน (ขยายตัว 13%) เวียดนาม (ขยายตัว 13%) และเกาหลีใต้ (ขยายตัว 9%) สวนทางกับมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกไปยังประเทศที่ฟื้นตัวช้าที่ส่วนใหญ่ยังคงหดตัว อาทิ เม็กซิโก (หดตัว 2.7%) อิตาลี (หดตัว 14%) สเปน (หดตัว 13.2%) และเอกวาดอร์ (หดตัว 57.6%) เป็นต้น

 

 

แม้ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะมีสัญญาณฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรูปแบบ “Divergent Recovery” อาจทำให้การส่งออกของไทยไม่ได้ฟื้นตัวทุกตลาดเหมือนการฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจหลายรอบที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ส่งออกจำเป็นต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะข่าวสารด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงกลยุทธ์การเจาะตลาดส่งออกที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ภาคส่งออกไทยฟื้นตัวตามและกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

ปรึกษาปัญหาธุรกิจ ขยายตลาดส่งออก ติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXAC) โทร. 0 2617 2111 ต่อ 3510-2