รู้หรือไม่ว่าการตั้งราคาขายไม่ใช่นึกจะขายเท่าไหร่ก็ขายได้ การตั้งราคาขายจำเป็นต้องมาจากการคำนวณต้นทุนที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรายเล็กมักจะตั้งราคาขายจากความรู้สึก
แต่สุดท้ายแล้วพบว่าสินค้าขายดีมาก แต่กลับไม่เหลือกำไรเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาแนะนำวิธีการคิดคำนวณต้นทุน เพื่อนำไปสู่การตั้งราคาขาย เพื่อให้มีกำไร มาดูกันเลยว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งเหล่านี้ คือ อะไร
ต้นทุนการขาย คือ จำนวนเงินที่จ่ายไปในการซื้อสินค้า วัตถุดิบ เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการที่ขายพร้อมกับกิจกรรมกระบวนการที่ทำให้สินค้าและบริการพร้อมขายหรือใช้ในภายหลัง เริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การทดสอบ การจัดเก็บ การขนส่ง เป็นต้น
ก่อนจะคำนวณต้นทุนการขาย เราจะต้องเข้าใจประเภทของธุรกิจแบ่งออก ดังนี้
ซื้อมาขายไป การขายประเภทนี้จะคำนวณต้นทุนได้ไม่ยาก คือ คิดจากราคาสินค้าที่ซื้อมา รวมค่าขนส่ง จะออกมาเป็นต้นทุน
ผลิตสินค้าเอง ซึ่งใช้วัตถุดิบหลายอย่างในการผลิต โดยทั่วไปต้นทุนการผลิตเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้า ได้แก่ ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายในการผลิตเช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันรถ รวมทั้งของเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ในทางบัญชีถ้าจัดจำแนกตามลักษณะพฤติกรรมของต้นทุนจะแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่มีมูลค่าเท่าเดิมไม่ว่าจะมีการผลิตสินค้าในปริมาณมากหรือน้อย ได้แก่ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
- ต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณการผลิตสินค้า ได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
สามารถคำนวณต้นทุนได้ ดังนี้
- ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตสินค้า
ตัวอย่าง ร้านขนมปัง วัตถุดิบได้แก่ แป้ง น้ำตาล ไข่ เป็นต้น รวมราคาวัตถุดิบที่ซื้อมาเท่ากับ 500 บาท และผลิตขนมออกมาได้ 1,000 ชิ้น ดังนั้นต้นทุนวัตถุดิบต่อขนม 1 ชิ้น เท่ากับ 2 บาท
หรือ {ต้นทุนวัตถุดิบ = ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้จริง X (ราคาที่ซื้อ ÷ ปริมาณที่ซื้อ)}
กรณีที่มีการจ้างพนักงานที่รับผิดชอบดูแลกระบวนการผลิต ค่าใช้จ่ายประเภทเงินเดือน ถือเป็นต้นทุนการผลิตโดยตรง การคำนวณค่าแรง ดังนี้
เช่น โรงงานผลิตสินค้าได้ 50,000 ชิ้นต่อวัน เงินเดือนของพนักงานที่ดูแลกระบวนการผลิตมี 2 คนเงินเดือนรวมกัน เดือนละ 40,000 บาท ดังนั้น ต้นทุนค่าแรงต่อสินค้า 1 ชิ้นเท่ากับ 40,000/50,000 เท่ากับ 0.8 บาทต่อ สินค้า 1 ชิ้น เป็นต้น
หรืออย่างกรณีของโรงงานทำขนมที่จ้างลูกจ้างรายวัน เช่นค่าแรงวันละ400 บาท โดยเฉลี่ยผลิตขนมได้วันละ 1,000 ชิ้น ค่าแรงต่อขนม 1 ชิ้น เท่ากับ 0.4 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการผลิต ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันรถ ของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
1.ค่าไฟฟ้า โดยค่าไฟต่อสินค้า 1 ชิ้น คำนวณจากค่าไฟที่จ่ายจริงแต่ละเดือนหารด้วยปริมาณการผลิต เช่น โรงงานผลิตสินค้า จ่ายค่าไฟในเดือนตุลาคม 100,000 บาท ผลิตสินค้าได้ 20,000 ชิ้น ดังนั้น ค่าไฟต่อ สินค้า 1 ชิ้น เท่ากับ 5 บาท
2.ค่าน้ำมันรถ โดยคิดจากค่าน้ำมันที่ใช้จริงสำหรับรถแต่ละคัน หรือ สามารถเปรียบเทียบราคาจากแอพพลิเคชั่นที่มีการให้บริการรถโดยสารต่างๆ
3.ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ในช่วงแรกๆอาจใช้วิธีการประเมิน เช่น ผลิตขนม 10 ชิ้น เสีย 1 ชิ้น เท่ากับของเสียคิดเป็น 10% ของสินค้าที่ผลิตได้ ต่อไปอาจจะใช้วิธีเก็บข้อมูลและประเมินจากของเสียที่เกิดขึ้นจริงได้
จะเห็นได้ว่าหากเราคำนวณตามสูตรการคำนวณข้างต้นแล้วทำให้เรารู้ต้นทุนราคาสินค้าที่ชัดเจน ที่เหลือก็ คือ ส่วนของการตั้งราคาขาย ซึ่งการตั้งราคาขายสินค้านั้นควรได้กำไรอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการทำธุรกิจ หรือ ประเภทของสินค้าด้วย