ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 หรือพ.ร.ก.ซอฟต์โลน ฉบับใหม่ ซึ่งประกอบด้วย
- มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตลอดระยะเวลามาตรการ
- มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง หรือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมาแล้วนั้น
ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยตระหนักถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้ และได้มีการหารือกันไปแล้วเพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้รวดเร็ว เพียงพอ และถูกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง
โดยเฉพาะกลุ่มSME สำหรับยอดการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ฯ ล่าสุด ธปท. รายงานว่า อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 6พันกว่าราย โดย 63% กระจายไปยัง SMEs ขณะที่มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน 910 ล้านบาท ในส่วนของธนาคารรัฐ ได้มีการออก สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่างหลากหลาย อาทิ
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ ดอกเบี้ย 2% 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 7 ปี สินเชื่อรายเล็กครอบคลุมธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทั้งทางตรงทางอ้อม ที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ธนาคารออมสิน มีสินเชื่อสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ดอกเบี้ยปีแรก 0.10% แล้วปรับเพิ่มในปีต่อไป ชำระเงินต้นภายใน 3 ปี และยังมีสินเชื่อให้กับ Startup และผู้ประกอบการ Non-Bank
ธนาคารกรุงไทย มีสินเชื่อธุรกิจ ดอกเบี้ย 2% 2 ปีแรก ค้ำประกันโดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น
มากไปกว่านั้น ยังมีความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กับธนาคารรายใหญ่ 5 แห่ง ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการ SME ในห่วงโซ่ค้าปลีก เพื่อให้การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว ผ่าน digital factoring platform เบื้องต้น มีการอนุมัติสินเชื่อแก่ SMEs แล้วมากกว่า 1 พันราย โดย 70% เป็นผู้ที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก่อน
ในส่วนของมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีความคืบหน้าไปพอสมควร เนื่องจากเป็นมาตรการใหม่ ลูกหนี้จึงอยู่ในช่วงของการทำความเข้าใจในรายละเอียด กฎระเบียบ และวิธีการปฏิบัติ โดยกลุ่มที่ให้ความสนใจเข้าโครงการ อาทิ ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และอสังหาฯให้เช่า กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ คาดว่า จะมีผู้เข้าโครงการเพิ่มขึ้นอีกมากในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ ในภาพรวม รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศ ครอบคลุมการส่งออก การลงทุนจากภาครัฐที่เน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศ และการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการSMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำร่วมกับ ธปท. พร้อมไปกับการรักษาระดับการจ้างงาน การช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ให้มีงานทำ
ที่มา : รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล