สองโครงการของรัฐบาลที่เปิดให้ลงทะเบียนอยู่นี้มีความต่างกัน “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน ในขณะที่ “คนละครึ่ง” เป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในการซื้อของใช้ที่จะเป็น
ทั้งนี้ มาตรการทั้งสองเป็นเสมือนแขนซ้ายและแขนขวาที่ช่วยกันนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศ กว่า 4 แสนล้านบาท ช่วยประคองให้ร้านค้ารายเล็กๆและผู้ประกอบการมีรายได้ มีการจ้างงาน ผ่านช่วงวิกฤตตอนนี้ไป
คนละครึ่ง ใช้กับร้านค้ารายย่อยๆที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยิ่งใช้ยิ่งได้ใช้กับร้านค้าที่จดทะเบียนฯ
คนละครึ่ง ประชาชนซื้อของต่อชิ้น จ่ายเองครึ่งหนึ่ง รัฐจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง ให้วงเงินวันละไม่เกิน 150 บาท รวม 3,000 บาท
ยิ่งใช้ยิ่งได้ ประชาชนซื้อของจ่ายราคาเต็ม แต่จะได้เงินคืนเป็น e-voucher ไว้ใช้ในเดือนถัดไป
ทั้งสองโครงการเริ่ม 1 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค. ใช้ผ่านแอปเป๋าตังเหมือนกัน
สำหรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” มันได้อย่างไร?
- ยอดการใช้จ่าย 4 หมื่นบาทแรก ผู้ใช้จะได้รับเงินคืน (e-voucher) 10%
- ยอดการใช้จ่าย ตั้งแต่ 4 หมื่นบาทขึ้นไป จนถึง 60,000 บาท ได้รับเงินคืน 15%
- หากใช้เกิน 60,000 บาท ไม่มีเงินคืนให้
- การใช้จ่าย ใช้ได้วันละไม่เกิน 5,000 บาท/คน ส่วนที่เกินไม่นำมาคำนวณการคืนเงิน
การใช้จ่ายเพื่อรับเงินคืนต้องให้สิ้นสุดในเดือน ก.ย. เมื่อมีการใช้จ่ายเต็มยอด 60,000 บาท ผู้ใช้จะได้รับเงินคืนเต็มเงื่อนไข คือ 7,000 บาท โดยทยอยใช้ในส่วนที่เป็นe-voucher ได้ถึงสิ้นปีนี้
หากวันนี้ลงทะเบียน “คนละครึ่ง” ไปแล้ว เกิดเปลี่ยนใจอยากมาลง “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ก็สามารถทำได้ เพียงแค่มาลงทะเบียนในแอปเป๋าตัง “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ระบบจะทำการเปลี่ยนการร่วมโครงการให้ และถือว่าคุณได้สละสิทธิการร่วมโครงการคนละครึ่ง
จะร่วมโครงการไหนดี แต่ละท่านคงมีคำตอบที่ต่างกัน ถ้าช่วงนี้มีเงินเหลือไม่มาก อยากประหยัดภาระค่าใช้จ่ายรายวัน “คนละครึ่ง” จะตรงจุดกว่า
แต่หากมีเงินใช้แบบไม่ต้องกังวล มีเป้าอยากซื้อของใช้ชิ้นใหญ่ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ก็จะเป็นคำตอบที่ใช่กว่า เพราะมันยิ่งใช้แล้วจะยิ่งได้ แต่ก็อย่าไปตั้งเป้าว่าจะต้องเอาให้ได้ จนลืมวางแผนการเงิน
คนละครึ่ง ณ เวลานี้ (22 มิ.ย.) ยังเหลืออีกกว่า 2.9 ล้านสิทธิ
ยิ่งใช้ยิ่งได้ ณ เวลานี้ (22 มิ.ย.) ยังเหลืออีกกว่า 3.7 ล้านสิทธิ
ข้อมูลจาก : รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล