ที่ประชุมช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เคาะ ศธ.จัดทำมาตรการช่วยเหลือนักเรียน เตรียมชงเข้า ครม. 27 ก.ค. 64 ด้าน อว. จัดมาตรการลดค่าเทอมนักศึกษา ม.รัฐ สูงสุด 50% ช่วยค่าเทอมเด็ก ม.เอกชน คนละ 5,000 บาท
เมื่อวันที่ (21 ก.ค.64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19
โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวง อว. เข้าร่วมพิจารณาแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ ศธ. จัดทำโครงการมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียน ครู และผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด โดยครอบคลุมโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัด กทม.และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะนำมาตรการการช่วยเหลือเหล่านี้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบหลักการในวันที่ 27 ก.ค.
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. เปิดเผยว่า ส่วนของกระทรวง อว. มีข้อสรุปให้ลดค่าเล่าเรียนนักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน
ทั้งนี้มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและในกำกับของรัฐ 35 แห่ง จำนวนนักศึกษา 922,794 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง นักศึกษา 396,858 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง นักศึกษา 133,782 คนสถาบันวิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง 11,678 คนสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 72 แห่ง นักศึกษา 285,500 คน รวม 155 แห่ง นักศึกษา 1,750,109 คน
สำหรับ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาโดยกำหนดเป็นขั้นดังนี้
ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม การศึกษาร้อยละ 50 ตั้งแต่ 50,001 บาท ถึง 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10 โดยงบประมาณที่ใช้สนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุน ร้อยละ 20 และรัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 30
ครอบคลุมระดับ ป.ตรี ป.โท และป.เอก รวมถึงอนุปริญญา และทุกหลักสูตร แต่หากนักศึกษาคนใดเรียนเกินหนึ่งหลักสูตรจะได้ลดเพียงหลักสูตรเดียว
ด้าน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ให้นักศึกษาคนละ 5,000 บาท และลดค่าเรียนเพิ่มเติมและสนับสนุนมาตรการ อื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยจะพิจารณา เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระ/ผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา /ตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา/จัดหาอุปกรณ์ใช้เรียนออนไลน์ /ส่วนลดค่าหอพักฯ /จัดสวัสดิการพิเศษกรณีนักศึกษาป่วยด้วยโรค โควิด-19 เป็นต้น