“ทำเล” มีความสำคัญมาอันดับต้นๆ เพราะการที่สินค้าหรือบริการของคุณจะขายดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณไปเปิดที่ไหน ผู้คนเป็นอย่างไร เรียกว่าใครมองขาด หาทำเลที่ดีและเหมาะสม ก็ถือว่าคุณมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ธุรกิจ "แฟรนไชส์" ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทธุรกิจที่จะต้องอาศัยทำเลเป็นหลัก วันนี้ ชี้ช่องรวย จะพามาดูประเภทของพื้นที่และทำเลที่เหมาะจะไปปักหมุดทำธุรกิจแฟรนไชส์ ตามความสามารถและกำลังงบประมาณของคุณ ซึ่งแต่ละทำเลนั้นต้องขอบอกเลยว่า น่าสนใจไม่น้อย ดังนี้
1.ห้างสรรพสินค้า
ข้อดี
-สร้างการรับรู้โดยตรง เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้จำนวนมาก และทุกเพศทุกวัย
-สถานที่มีการจัดการที่เป็นระบบ ให้ผู้ประกอบการร้านค้าปฏิบัติภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
-ไม่ต้องกังวลสภาพอากาศ เพราะอยู่ในสถานที่ปิด
ข้อเสีย
-คอร์สต้นทุนค่าใช้จ่ายเช่าสถานที่ รวมถึงคอร์สอื่นๆ ภายใต้ข้อกำหนดของห้างฯ ค่อนข้างสูง
-ต้องเปิดบริการทุกวัน และตามกำหนดเวลาเปิด-ปิดของห้างฯ ผู้ประกอบการไม่สามารถหยุด/ปิดร้านก่อนได้
2.โรงเรียน/สถานศึกษา
ข้อดี
-กลุ่มลูกค้าเป็นช่วงวัยเรียน-วัยรุ่น มีจำนวน (Traffic) ในพื้นที่ สามารถตั้งเป้ายอดขายที่แน่นอน
-เป็นกลุ่มลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อได้ง่าย โดยเฉพาะอาหาร/เครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น สินค้าแปลกใหม่
-เป็นกลุ่มลูกค้าที่ทรงอิทธิพลในกระแสสังคมโซเชียล และเกิดการบอกปากต่อปากสูง (Word Of Mouth)
ข้อเสีย
-มีช่วงเวลาปิดภาคเรียน กระทบต่อยอดขายหน้าร้านโดยตรง
-มีช่วงเวลานาทีทองในการเรียกลูกค้าอย่างจำกัด เช่น เช้าก่อนเข้าเรียน และพักเที่ยง
-กำลังซื้อมีจำกัด เนื่องจากกลุ่มลูกค้าอยู่ในช่วงวัยเรียน ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำงานหาเงินเองได้
3.ตลาดนัดในชุมชน
ข้อดี
-สร้างการรับรู้อย่างดี เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่โดยตรง
-ค่าเช่าที่ ราคาไม่สูง
-การต่อรองซื้อ-ขายสินค้าและบริการ ระหว่างผู้ขาย-ผู้ซื้อ ทำได้อย่างอิสระ
ข้อเสีย
-มีช่วงเวลานาทีทองในการซื้อ-ขาย ก่อนตลาดจะวาย (ในบางตลาดสามารถขายได้ตลอดทั้งวัน)
-เป็นทำเลที่เหมาะกับในบางธุรกิจหรือร้านค้าบางประเภทเท่านั้น
-ตลาดนัดบางแห่งสถานที่กลางแจ้ง อุปสรรค คือ สภาพอากาศในการเปิดร้าน
4.คอมมูนิตี้มอลล์ (ศูนย์การค้าในพื้นที่ชุมชน)
ข้อดี
-เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ได้โดยตรง
-สามารถกำหนดยอดขายและวางแผนกลยุทธ์การทำตลาดที่แน่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-สถานที่ได้รับการออกแบบอย่างมีมาตรฐาน สาธารณูปโภคครบครัน อำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ขาย-ผู้ซื้อ (น้ำ ไฟ ห้องน้ำ ที่จอดรถ ระบบ รปภ. ฯลฯ)
ข้อเสีย
-เป็นสถานที่ค่อนข้างปิด ส่วนใหญ่เกิดกับจับจ่ายใช้สอยของคนในพื้นที่ชุมชนเท่านั้น
-ค่าเช่าสถานที่ค่อนข้างสูง
-การสร้างยอดขาย และคาดหวังกับการเติบโตของสาขาค่อนข้างยาก หากไม่มีกลยุทธ์หรือการทำตลาดในช่องทางอื่นๆ มาประยุกต์ด้วย
5.สถานีให้บริการน้ำมัน (ปั๊ม)
ข้อดี
-เป็นทำเลที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกระดับ สร้างการรับรู้ได้โดยตรง
-เป็นทำเลที่มี Traffic สูง มีการเข้า-ออก ของกลุ่มลูกค้าคือ ผู้ใช้ยานพาหนะสัญจรไปมาโดยตลอด
-ผู้ประกอบการไม่ต้องเหนื่อยประชาสัมพันธ์ลูกค้า เพราะกลุ่มลูกค้าคือ ผู้ใช้รถที่เข้ามาเติมน้ำมัน แวะพักเข้าห้องน้ำ เป็นจุดรวมพล/พักรถ และต้องการจับจ่ายเลือกซื้อ/บริโภคอาหาร หรือใช้บริการต่างๆ อยู่แล้ว
ข้อเสีย
-ค่าเช่าพื้นที่ค่อนข้างสูง
-คาดการณ์ยอดขายค่อนข้างยาก มีข้อจำกัดเรื่องพฤติกรรมจบจ่ายของลูกค้าและปริมาณรถเข้า-ออก
-มีเงื่อนไข ข้อกำหนดในการออกแบบร้าน และการประกอบธุรกิจในสถานที่ดังกล่าวพอสมควร
อย่างไรก็ตาม การลงทุนเรื่องทำเล คุณจำเป็นต้องดูความพร้อมและงบประมาณของคุณด้วยว่า เหมาะสมกับทำเลไหน สินค้าของคุณเป็นอย่างไร กลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นใคร เพื่อให้การลงทุนของคุณไม่สูญเปล่า และได้การรับตอบรับที่ดีกลับมา ดูตัวเองให้ออก มองสินค้าให้ขาด พุ่งเป้าหมายให้ตรงกลุ่ม รับรองว่าสำเร็จแน่นอน